วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เตรียมตัวเป็นคุณพ่อมือใหม่

บทบาทอันยิ่งใหญ่ก่อให้เกิด ความรักความผูกพันในครอบครัว
เมื่อคุณผู้หญิงเริ่มตั้งครรภ์ และยิ่งเป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรกละก็ ส่วนมากจะมีการเตรียมตัวเพื่อเป็นคุณแม่คนใหม่กันทั้งสิ้น สารพัดสื่อไม่ว่า จะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีรายการหรือบทความที่ให้ความรู้แก่คุณแม่คนใหม่มากมาย 
 จนบางครั้งถ้าคุณแม่พยายามติดตามให้ครบหมดทุกอย่างอาจจะเหนื่อยจนขาดใจตาย ก่อนได้เป็นคุณแม่ก็มี จึงอยากให้คุณผู้อ่านลองคิดดูว่าการจะมีลูกสักคนหนึ่งไม่ใช่เรื่องของแม่คน เดียว พ่อก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยในการเตรียมตัวเพื่อต้อนรับลูกน้อยที่จะเกิดมา 
 อย่างไรก็ตามบทความที่แนะนำการเตรียมตัวเป็นคุณพ่อในสื่อต่างๆน้อยมาก อาจเป็นเพราะสังคมไทย รวมทั้งประเทศทางตะวันออกอื่นๆ เช่น จีน เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นต้น ยังคิดว่าการเลี้ยงลูกเล็กเป็นเรื่องของผู้หญิง ผู้ชายไม่เกี่ยว เพราะต้องทำงานนอกบ้าน ความคิดเช่นนี้ต่างกับประเทศทางตะวันตก ซึ่งมักอยู่กันเป็นครอบครัวเล็ก หาคนมาช่วยเลี้ยงลูกยาก ครั้นจะจ้างคนมาช่วยเลี้ยงลูก ค่าจ้างก็แพงมาก บางครั้งมากกว่ารายได้ที่คุณแม่ได้จากการทำงานเสียอีก จึงทำให้คุณแม่จำนวนไม่น้อยต้องลาออกจากงานมาเลี้ยงลูกให้มันรู้แล้วรู้รอด ไปเลย เพราะคุ้มกว่า ส่วนคุณพ่อก็ต้องช่วยรับหน้าที่ในการเลี้ยงลูกหลายอย่าง เช่น ช่วยอาบน้ำลูก ซักผ้าอ้อม หรือบางทีช่วยให้นมลูกก็มี ฟังดูแล้วน่าตลก แต่เป็นเรื่องจริงครับ เพราะถ้าไม่ทำก็ไม่มีใครช่วยทำ 
           สังคมไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะสังคมเมืองใหญ่ สถานการณ์เริ่มจะเหมือนกับสังคมตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ คือมักจะอยู่กันเป็นครอบครัวเล็ก และหาคนมาช่วยเลี้ยงลูกยากขึ้นทุกที ผมจึงอยากชวนคุณพ่อมาคุยกันถึงการเตรียมตัวเป็นคุณพ่อคนใหม่กัน เผื่อว่าเมื่อมีสมาชิกใหม่เกิดขึ้นจะได้ดูแลได้อย่างราบรื่นและทำให้ครอบ ครัวเป็นสุข 
           เตรียมตัวเป็นคุณพ่อคนใหม่อย่างไร 
           ผมอยากแนะนำให้คุณพ่อเตรียมตัวเสียตั้งแต่คุณแม่ยังตั้งครรภ์อยู่เลยครับ ไม่ใช่มาเตรียมกันตอนคุณแม่คลอดลูกแล้ว เพราะช้าเกินไป นอกจากนี้ตอนที่คุณแม่ตั้งครรภ์หรือกำลังจะคลอด ตัวคุณแม่เองก็ต้องการความช่วยเหลือและกำลังใจจากคุณพ่อไม่น้อยเลย การดูแลคุณแม่ตลอดช่วงการตั้งครรภ์ ขณะคลอด และหลังคลอดจึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อควรจะได้ทำอย่างต่อเนื่อง ความรักและความผูกพันที่มีต่อกันและต่อลูกที่จะเกิดขึ้นมาก็จะมากตามไปด้วย 
           ดูแลคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ 
           เมื่อมีการตั้งครรภ์คุณแม่ส่วนมากมักจะไปฝากครรภ์กับคุณหมอที่ตัวเองไว้วาง ใจ เพื่อให้คุณหมอช่วยดูแลสุขภาพของตัวเองและลูกน้อยในครรภ์ ผมขอเรียนให้ทราบว่าคุณหมอที่ดูแลคุณแม่ไม่สามารถช่วยดูแลอะไรได้มากมายนัก หรอกครับ ส่วนมากจะเป็นการดูแลเกี่ยวกับเรื่องทางการแพทย์เสียมากกว่า และเวลาที่ให้กับคุณแม่แต่ละครั้งก็ไม่ได้มากมายอะไร ดังนั้น ตัวคุณพ่อเองซึ่งมีเวลาอยู่กับคุณแม่มากกว่าจึงควรจะรับบทบาทในการดูแลคุณ แม่อย่างเต็มที่ 
           มีเรื่องที่ผมอยากจะบอกให้คุณพ่อทราบเกี่ยวกับคุณแม่ ก็คือเมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงในตัวคุณแม่มากมาย ทั้งเรื่องของร่างกายและอารมณ์ ในระยะแรกของการตั้งครรภ์คุณแม่จะเหนื่อยง่าย ง่วงนอนบ่อย ทานอาหารไม่ค่อยได้ คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกอึดอัด แน่นท้อง หายใจไม่ค่อยออก นอนลำบาก บางคนก็นอนไม่หลับ ปวดหลัง ปวดขาสารพัด ผลดังกล่าวนอกจากจะทรมานกายแล้ว ยังมีผลให้คุณแม่อารมณ์ไม่ดีได้ง่ายด้วย บางรายก็โกรธง่าย บางรายก็เศร้าซึม คุณพ่อควรเข้าใจการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และช่วยเหลือดูแลให้กำลังใจคุณแม่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะด้วยการพูดจาให้กำลังใจ ช่วยทำงานบ้าน หาอาหารให้ทาน หรือช่วยบีบนวดแก้อาการปวดน่อง ปวดขา เป็นต้น 
           เวลาไปฝากครรภ์กับคุณหมอคุณพ่อควรเป็นคนพาคุณแม่ไปฝากครรภ์ เพราะจะได้คอยให้กำลังใจคุณแม่เวลาไปฝากครรภ์ นอกจากนี้เวลาคุณหมอตรวจหรือแนะนำอะไรคุณแม่คุณพ่อก็จะได้รับรู้ด้วย และหากมีปัญหาที่ต้องตัดสินใจ เช่น คุณหมออาจต้องทำการตรวจพิเศษบางอย่างกับคุณแม่ เช่น เจาะน้ำคร่ำ ตรวจเลือดจากสายสะดือลูก คุณพ่อจะได้ช่วยตัดสินใจและให้กำลังใจคุณแม่อย่างใกล้ชิด 
          ให้กำลังใจตอนคลอด 
           ช่วงเวลาที่คุณแม่เจ็บครรภ์คลอด โดยเฉพาะถ้าเป็นการคลอดครั้งแรก คุณแม่ส่วนมากมักจะมีความรู้สึกต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรู้สึกกลัว วิตกกังวล ไม่มั่นใจ และอีกสารพัดความรู้สึก การมีคุณพ่ออยู่ด้วยขณะเจ็บครรภ์และคลอดจะเป็นการสร้างความมั่นใจและอบอุ่น ใจที่ดีที่สุดให้คุณแม่ เพราะการอยู่กับคนที่เรารักหรือรู้ใจย่อมดีกว่าคนแปลกหน้าอยู่แล้ว 
           ปัจจุบันโรงพยาบาลจำนวนไม่น้อยเริ่มให้คุณพ่ออยู่ร่วมกับคุณแม่ขณะคลอดด้วย แต่หลายโรงพยาบาลยังไม่ยอม แม้จะยอมรับว่าการที่คุณพ่ออยู่กับคุณแม่ขณะคลอดจะเป็นเรื่องดีก็ตาม ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น คุณพ่อบางคนพอเห็นเลือดก็อาจเป็นลมหน้ามืดได้ กลายเป็นภาระให้หมอต้องมาดูแลพ่อแทน บางคนก็ไม่ยอมทำตามกฎเกณฑ์ที่ทางโรงพยาบาลสร้างขึ้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ในห้องคลอด หรือบางคนก็ไปวุ่นวายในห้องคลอดจนบุคลากรในห้องคลอดไม่ต้องทำงาน ดังนั้น ก่อนจะเข้าไปในห้องคลอดคุณพ่อควรเตรียมตัวและเตรียมใจให้พร้อมก่อน ซึ่งโรงพยาบาลบางแห่งก็จัดให้มีการอบรมเพื่อการเตรียมตัวเป็นคุณพ่อ 
           ช่วยเลี้ยงลูกภายหลังคลอด 
           การเลี้ยงลูกหลังคลอดใหม่ๆเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสไม่น้อย จนคุณแม่หลายคนบ่นให้ผมฟังว่าตอนลูกอยู่ในท้องก็ว่าแย่แล้ว พอคลอดออกมายิ่งแย่หนักเข้าไปอีก อยากให้ลูกกลับเข้าไปอยู่ในท้องใหม่จังเลย เพราะตั้งแต่ออกมาพ่อแม่ไม่ได้หลับนอนเลย เนื่องจากเจ้าตัวน้อยตื่นนอน แหกปากร้อง และกินนมตอนดึกๆทุกคืน แต่เวลากลางวันที่ควรจะตื่นกลับนอนเอ้านอนเอา แถมหลับตาพริ้มให้น่าหมั่นไส้อีกต่างหาก ถ้าโตหน่อยน่าจะถองซะให้เจ็บ คุณแม่บางคนหลังคลอดแค่สัปดาห์เดียวก็ต้องอดนอนจนซูบซีดคล้ายผีดิบเคลื่อน ที่เลยก็มี บางคนเล่าให้ผมฟังว่าคลอดลูกแค่คนเดียวก็รู้สึกรักแม่ของตัวเองขึ้นอีกมาก เลย เพราะแม่มีลูกตั้งหลายคน แต่ไม่เคยปริปากเล่าเรื่องความทุกข์ยากเวลาเลี้ยงลูกให้ฟังเลย มาเจอด้วยตัวเองถึงเข้าใจ 
           ในช่วงหลังคลอดคุณพ่อควรจะเป็นผู้ช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงลูก ไม่ว่าจะสลับกันนอนกับคุณแม่เพื่อให้นมลูก ช่วยคุณแม่ชงนม ล้างขวดนม หรือช่วยซักผ้าอ้อม เป็นต้น ในประเทศทางตะวันตกมีการนำคุณพ่อมาอบรมในเรื่องการดูแลลูกหลังคลอดมากมาย หลายหลักสูตร เพื่อให้แน่ใจว่าคุณพ่อจะช่วยเลี้ยงดูลูกน้อยได้อย่างถูกวิธี บางโรงพยาบาลก็อบรมให้ฟรี บางโรงพยาบาลก็เก็บค่าอบรมมากน้อยแล้วแต่ 
           การทำหน้าที่เป็นคุณพ่อคนใหม่เป็นบทบาทที่ยิ่งใหญ่กว่าหน้าที่การงานอีก หลายอย่าง เพราะหน้าที่นี้คือการทำงานเพื่อสร้างคน โดยเฉพาะเป็นคนที่จะมาเป็นตัวแทนของคุณพ่อเองนั่นแหละ การที่คุณพ่อได้มีส่วนในการดูแลทั้งตัวคุณแม่ขณะตั้งครรภ์และลูกน้อยที่ เพิ่งคลอดออกมาจะก่อให้เกิดความรักและความผูกพันที่คุณพ่อจะมีให้แก่คุณแม่ และลูกน้อยไปอีกยาวนาน เพราะฉะนั้นมาเตรียมตัวเป็นคุณพ่อคนใหม่กันเถิด 

ที่มา
โดย : รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์
ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลศิริราช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น