วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การเตรียมพร้อมก่อนคลอด

การจัดกระเป๋าเตรียมตัวไปคลอดที่โรงพยาบาล ควรจัดล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือนเพื่อป้องกัน การฉุกละหุก หากมีการคลอดฉุกเฉินเกิดขึ้น นอกจากนั้นควรตรวจสอบดูด้วยว่า ของใช้จำเป็น อื่นๆ สำหรับลูกน้อยได้ตระเตรียมไว้พร้อมแล้วหรือยัง คุณแม่อาจสอบถามจากโรงพยาบาลที่จะไปคลอดว่า ควรนำสิ่งใดมาโรงพยาบาลบ้าง บางโรงพยาบาลจะมี รายการสิ่งของที่ควรนำมาในจำนวนที่เหมาะสมไว้ให้ บางโรงพยาบาลก็เตรียมเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับ คุณแม่และลูกน้อยไว้ให้แล้ว




สิ่งที่ควรเตรียมไปด้วย
ก่อนคลอด - สำหรับคุณแม่

  1. กระเป๋าเครื่องสำอางใบเล็กสำหรับเครื่องใช้ในห้องน้ำ เช่น แปรงสีฟัน, ยาสีฟัน, สบู่ หรือเจลอาบน้ำ, แชมพูสระผม, หวี หรือแปรงผม, ยาระงับกลิ่นกาย, ลิปมัน (เวลาเบ่งคลอดอาจปากแห้ง), น้ำหอมโอเดอ โคโลญจน์ (ถ้าชอบ), แป้งฝุ่น (ถ้าชอบ), ที่หนีบผม หรือที่รัดผม (เผื่อเวลาคลอดแล้วร้อน รำคาญ ผมเผ้ารุงรัง)
  2. หนังสือ, นิตยสาร สำหรับอ่านคลายเครียดก่อนเข้าห้องคลอด
  3. วิทยุเล็กๆ, วอล์คแมน, เครื่องเล่นซีดีอันเล็ก (สำหรับฟังเพลงคลายเครียด) หรือเกมส์กด (สำหรับคุณพ่อขณะรอคลอด)
  4. กล้องถ่ายรูป หรือกล้องวิดีโอเพื่อบันทึกภาพ (กรุณาขออนุญาตคุณหมอและทางรพ.ก่อนว่า อนุญาตให้บันทึกภาพได้)
  5. ลูกอม, เครื่องดื่ม ขณะรอคลอด
  6. ผ้าเช็ดหน้าและพัด (เผื่อรู้สึกร้อนขณะคลอด)
  7. ถุงเท้า (เผื่อรู้สึกหนาวเท้าขณะเจ็บท้องคลอดช่วงปลาย)
  8. กระติกน้ำร้อน (บางโรงพยาบาลมีให้)
  9. เหรียญบาท หรือบัตรโทรศัพท์เพื่อโทรแจ้งข่าวดี (ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือและ
    เพจเจอร์เมื่ออยู่ในโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการรบกวนจากคลื่นโทรศัพท์ที่มีต่อ
    เครื่อง มืออุปกรณ์ช่วยชีวิตทางการแพทย์ในรพ.)
  10. เบอร์โทรศัพท์ของญาติพี่น้อง เพื่อนๆ เพื่อแจ้งข่าวดี
  11. ผ้าเช็ดตัวสีเข้ม 1 ผืนและผ้าขนหนูไว้เช็ดหน้า 2 ผืน
  12. กระจกส่องหน้า (ถ้าต้องการ - ใช้เพื่อดูศีรษะลูกขณะ กำลังโผล่ศีรษะออกมาขณะเบ่งคลอดได้อีกด้วย - จะช่วยให้มีกำลังใจเบ่งได้ดีขึ้น)
  13. กระดาษทิชชู 1 กล่อง (บางรพ. มีให้) หรือกระดาษ เย็นเช็ดหน้า เพื่อใช้ซับเหงื่อขณะเจ็บท้องและเบ่งคลอด



สิ่งที่ควรเตรียมเพิ่มเติม - หลังคลอด

สำหรับคุณแม่

  1. ที่เป่าผม (ใช้เป่าผม หากต้องการให้ผมเผ้า ดูเรียบร้อยสวยงาม รอรับคนมาเยี่ยม และใช้อบแผลได้ด้วย)
  2. ลิปสติคสีธรรมชาติ (สำหรับคุณแม่ที่รัก สวยรักงาม - เพื่อความสบายใจ)
  3. ถุงพลาสติคใบใหญ่ใส่เสื้อผ้าใช้แล้วไปซัก
  4. รองเท้าแตะใส่ในบ้านแบบส้นเตี้ย
  5. ยกทรงสำหรับใส่ให้นมลูก (มีที่เปิดด้านหน้า) 3 ตัว
  6. กางเกงในตัวใหญ่ๆ สีเข้ม 6 ตัว
  7. ผ้าอนามัยแบบมีห่วง 2 ห่อ หรือแบบ ซึมซับมากเป็นพิเศษ (บางรพ. เตรียมให้ แต่กลับไปบ้านคุณก็ต้องใช้อยู่ดี)
  8. แผ่นซับน้ำนม สำหรับใส่ในยกทรงเพื่อ ซับน้ำนมซึม (มีขายทั้งชนิดใช้แล้วทิ้ง หรือ ชนิดซักใหม่ได้)
  9. ครีมทาน้ำนมเพื่อลดอาการเจ็บหัวนม (ไม่ใช้ก็ได้)
  10. เสื้อผ้าสำหรับคุณแม่ใส่วันออกจากรพ. เพื่อกลับบ้าน ควรเป็นชุดผ่าหน้า (เพื่อให้นม ลูกได้สะดวก) ควรเลือกตัวใหญ่ๆ หลวมๆ เพราะรูปร่างยังไม่คืนรูปในช่วงนี้
  11. ควรจะเตรียมทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนไปด้วย เพราะสมัยนี้โรงพยาบาลมีบริการ ทำสูติบัตรให้ค่ะ (แนะนำโดย คุณMacy)


สำหรับลูกน้อย

  1. ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ชนิดแรกเกิด 1 ห่อ (บางรพ.เตรียมไว้ให้) ใช้ขณะอยู่รพ.
  2. สำลี (สำหรับเช็ดทำความสะอาดลูก) ส่วนมากใช้ของรพ.
  3. ขันใบเล็ก สำหรับใส่น้ำต้มสุกเพื่อ ใช้เช็ดทำความสะอาดลูก
  4. โลชั่น/แป้งฝุ่น - ไม่จำเป็นต้องใช้กับทารก แรกเกิดเพราะผิวยังอ่อนมาก
  5. เสื้อผ้าเด็กอ่อน 3 ชุด
  6. ผ้าห่มใช้ห่อตัวลูก
  7. ถุงมือ ถุงเท้า ดูว่าไม่มีเส้นด้ายรุงรังอยู่ด้านใน
  8. หมวกเด็กอ่อน (ใช้ใส่วันกลับบ้าน)
  9. เสื้อชุดหมีเต็มตัวใช้ใส่กลับบ้าน 1 ชุด

เทคนิคเตรียมตัวก่อนคลอด

ก่อนคลอด เรื่องที่คุณแม่ท้องแรกมักจะกังวลใจ หนึ่งในหลายๆ เรื่องคือเรื่องการคลอดนั่นเอง บ้างได้ยินมาว่าตอนคลอดจะเจ็บมาก คลอดลำบาก ต้องมีท่าทางในการคลอด ต่างๆ นานา ซึ่งการจะคลอดลูกง่ายหรือยากนั้น จริงๆ แล้วมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องที่คุณแม่ท้องแรกควรทราบอย่างยิ่งค่ะ


ปัจจัยแรก
ขึ้นอยู่กับอุ้งเชิงกรานของคุณแม่ว่ามีขนาดได้มาตรฐานหรือไม่ หากเล็กไปการคลอดก็จะยากขึ้น อย่างไรก็ดี ก่อนคลอดแพทย์ก็จะวัดขนาดของกระดูกอุ้งเชิงกรานในช่วงอายุครรภ์ของแม่แล้ว ซึ่งพอจะบอกได้ว่าขนาดของอุ้งเชิงกรานใช้ได้หรือไม่ หากมีปัญหา แพทย์ที่ทำการคลอดจะได้หาหนทางแก้ไขต่อไป




ปัจจัยที่สอง
ขึ้นอยู่กับขนาดของทารก หากทารกมีขนาดใหญ่มากกว่า 3,500 กรัม การคลอดก็จะยากขึ้นหรืออาจคลอดตามธรรมชาติไม่ได้ เพราะจะมีความเสี่ยงมาก แพทย์อาจจะพิจารณาวิธีผ่าคลอดให้แม่เป็นทางเลือก




อยากคลอดง่ายทำไงดี
- ควรพยายามดูแลตัวเองให้รู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียด เช่น อาบน้ำอุ่น พักผ่อนมากขึ้น หรืออาจใช้กระเป๋าน้ำร้อนวางประคบหลังเพื่อช่วยคลายปวด แต่ไม่ควรกินยาแก้ปวด


- ไม่ควรอั้นปัสสาวะนานๆ การที่กระเพาะปัสสาวะว่าง จะมีผลช่วยให้การคลอดเป็นไปได้ด้วยดี เนื่องจากไม่เกิดอุปสรรค์กีดขวางการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก


- หากรู้สึกหิว ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ หรืออาหารว่างเบา ๆ ไม่ควรทานอาหารหนักเต็มมื้อ เนื่องจากอาหารเหล่านี้จะใช้เวลาในการย่อยนาน ยิ่งหากมีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้นระหว่างการคลอด จะเป็นอุปสรรคในการให้ยาระงับความรู้สึก เช่น ไม่สามารถให้ยาสลบได้


- ควรใช้เวลาที่พักระหว่างการเจ็บครรภ์อย่างคุ้มค่า โดยการนอนให้นิ่งและสงบอารมณ์ เพื่อเก็บพลังไว้ใช้ในการคลอด


- หากคุณแม่ยังสามารถลุกเดินได้ อาจจะลุกเดินรอบ ๆ เตียงบ้างก็ได้ หรือขยับตัวเปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลายจากการเกร็งตัว


- หากรู้สึกว่าต้องการระงับอาการปวด ควรบอกแพทย์หรือพยาบาลที่ดูแล


- พยายามควบคุมการหายใจเข้า ออก ตามวิธีที่พยาบาลในห้องคลอดแนะนำ ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่สบายขึ้น




บริหารร่างกายให้คลอดง่าย
การบริหารร่างกายก่อนการคลอดเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้คุณแม่คลอดง่าย ทั้งยังช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของคุณแม่แข็งแรง และช่วยคลายอาการปวดเมื่อยอีกด้วย เรามาดูกันดีกว่าว่าคุณแม่ต้องบริหารร่างกายอย่างไรบ้าง


1. บริหารกล้ามเนื้อขา สะโพกและข้อเท้า
เป็นท่าที่ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณขา สะโพก และเท้าของคุณแม่ดีขึ้น
โดยการนั่งพิงหมอน เหยียดขาตรง วางมือข้างลำตัว กระดกเท้าทั้งสองข้างขึ้นลงสลับกัน โดยให้ส้นเท้าวางอยู่กับที่ ขณะกระดกเท้าขึ้นหายใจเข้าลึก ๆ และหายใจออกเมื่อกดปลายเท้าลง ทำวันละ 8 - 10 ครั้งค่ะ


จากนั้นนั่งท่าเดียวกัน กด ปลายเท้าลง หมุนปลายเท้าและข้อทั้งสองข้างเป็นวงกลม ให้ส้นเท้าอยู่กับที่ ไม่งอเข่าค่ะ โดยหมุนปลายเท้าเข้าหาตัวเอง เมื่อครบรอบแล้วปลายเท้าจะอยู่ในลักษณะกระดกขึ้น แล้วให้หมุนปลายเท้าออกเมื่อครบรอบ ปลายเท้าจะอยู่ในลักษณะกดลง ทำสลับกัน 8 - 10 ครั้งค่ะ




2. บริหารกล้ามเนื้อต้นขา
เป็นท่าที่ช่วยให้กล้ามเนื้อต้นขายืด ขยาย มีความแข็งแรงมากขึ้น โดยการนั่งขัดสมาธิวางฝ่ามือตรงเข่า หายใจเข้าหลังตรง และหายใจออกทำ 8 - 10 ครั้ง จากนั้นนั่งขัดสมาธิประกบฝ่าเท้าทั้งสองข้าง ดึงส้นเท้าชิดตัว มือทั้งสองรองอยู่ใต้หัวเข่า เท้าชิดตัว ใช้มือทั้งสองที่สอดใต้เข่าทั้งสองข้างดันเข่าพร้อมกับสูดลมหายใจเข้า แล้วเปลี่ยนเป็นใช้ฝ่ามือกดเข่าลงช้า ๆ พร้อมกับหายใจออก ทำ 8 - 10 ครั้ง




3. บริหารกล้ามเนื้อสีข้าง
ช่วยลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อสีข้าง ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และหายใจได้สะดวกขึ้นค่ะ โดยการนั่งขัดสมาธิ ชูมือขวาขึ้นเหนือศีรษะให้มากที่สุด หลังยืดตรง เอียงตัวมาทางซ้ายให้มากที่สุดพร้อมหายใจเข้า กลับมานั่งตรงตามเดิม และหายใจออกสลับข้างเป็นยกมือข้างซ้าย ทำเช่นเดียวกัน 8 - 10 ครั้ง




4. บริหารกล้ามเนื้อช่องคลอดอุ้งเชิงกราน และฝีเย็บ
ช่วยให้ฝีเย็บยืดขยายสามารถควบคุมได้ง่าย โดยการขมิบ และคลายกล้ามเนื้อรอบ ๆ ช่องคลอด ทวารหนัก และช่องปัสสาวะ ขณะขมิบให้หายใจเข้า และขณะคลายให้หายใจออก




5. บริหารกล้ามเนื้อหลัง หน้าท้อง สะโพก และต้นขาด้านหลัง
ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และบรรเทาอาการปวดหลัง โดยการที่คุณแม่อยู่ในท่าคลาน แขนเท้าพื้นเหยียดตรง หายใจเข้าพร้อมกับโก่งหลังขึ้น ก้มศีรษะ แล้วหายใจออกพร้อมกับแอ่นหลังลงและยกศีรษะขึ้น




6. บริหารกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างหน้าท้องและอุ้งเชิงกราน
เป็นท่าที่มีประโยชน์สำหรับการคลอดเพราะช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนล่างยืดขยายและมีความยืดหยุ่น ทั้งยังลดอาการปวดหลังได้ดี โดยการนอนหงายกับพื้น ชันเข่าแยกขาห่างจากกันเล็กน้อย วางแขนทั้งสองข้างชิดลำตัวสูดหายใจเข้า กลั้นไว้พร้อมกับเกร็งกล้ามเนื้อสะโพก ต้นขา และหน้าท้อง แอ่นหลังขึ้น โดยไหล่และสะโพกแนบติดพื้น หายใจออกช้า ๆ พร้อมกับกดหลังให้ติดพื้นตามเดิม


คุณแม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่สบายตัว เคลื่อนไหวได้สะดวก และอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเท นอกจากนี้ การบริหารครั้งแรกควรทำเพียง 10 - 5 นาที วันละ 1 - 2 ท่า เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว หลังจากนั้นค่อยเพิ่มเป็นวันละ 30 - 40 นาที วันละ 4 - 5 ท่า แต่ถ้าหากคุณแม่รู้สึกเหนื่อยต้องรีบหยุดทันทีนะคะ


แสดงแบบโดยคุณเนาวรัตน์ พงษ์พันธ์เดชา

วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

อาการปวดหัว ของคุณแม่ตั้งครรภ์


หนึ่งในอาการที่อาจเกิดกับคุณแม่ท้องได้คืออาการปวดหัว ที่สำคัญคือ การกินยาอาจเป็นเพียงกรแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะอย่างที่รู้ดีว่า พฤติกรรมการกินยาของแม่ท้อง อาจมีผลกับลูกน้อย ดังนั้น การป้องกัน รับมือกับอาการไว้ก่อน เป็นวิธีที่ดีต่อคุณและลูกในท้องค่ะสาเหตุ ชวนปวดหัว

           สาเหตุมีได้หลายปัจจัย เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะคุณแม่ท้อง, อาการขาดน้ำกะทันหัน (dehydration), ความอ่อนเพลีย, ความหิว, พักผ่อนไม่เพียง (ยิ่งอายุครรภ์มาก ๆ อาการนอนไม่หลับจะเป็นบ่อยมาก) เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ, หรือสภาพแวดล้อมของอากาศ ภาวะความเครียด ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นสาเหตุทำให้คุณแม่เกิดอาการปวดหัว

ป้องกัน เรื่องปวดหัว

           นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8-10 ชั่วโมง โดยเฉพาะช่วงกลางคืน เพราะร่างกายผลิตฮอร์โมนที่ช่วยในการตั้งท้องออกมา และควรมีเวลาผ่อนคลายในช่วงระหว่างวัน

           กินอาหารเพิ่มขึ้น (อย่ากลัวอ้วน) เพราะลูกน้อยต้องการอาหารจากคุณ ควรกินให้ครบ 5 หมู่ ไม่ปล่อยให้ท้องว่าง เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง มีอาการปวดศีรษะได้ อาจเตรียมของว่างระหว่างมื้อเอาไว้ยามหิวก็ดีค่ะ

           ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 2 แก้ว

           ออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อช่วยผ่อนคลายและเสริมความแข็งแรงให้ร่างกาย

           ระวังการเปลี่ยนท่าทาง อิริยาบถต่าง ๆ ไม่ทำอย่างรวดเร็วเกินไป เช่น ก้มเก็บของหรือเงยหน้า เป็นเวลานาน, ลุกขึ้นยืนเร็วเกินไป เป็นต้น

           คุณแม่คอซาหรือกาแฟ ควรค่อย ๆ ลดปริมาณการดื่มในแต่ละวันลง เพราะการหยุดโดยทันทีอาจทำให้ปวดหัวจากการถอนคาเฟอีนออกจากร่างกาย

           ผ่อนคลายด้วยการสูดหายใจเข้าช้า ๆ ให้ท้องป่องขึ้นเล็กน้อย กลั้นไว้ประมาณ 1 วินาที แล้วค่อย ๆ หายใจออกให้ท้องยุบลง ทำให้กล้ามเนื้อของร่างกายคลายตัวลง

รับมือกับอาการอย่างไรดี

           อาจนวดต้นคอด้านข้าง เริ่มจากฐานของกะโหลกศีรษะหรือขอให้คุณสามีที่รักนวดเบา ๆ ที่ลำคอ และไหล่อาจทำให้รู้สึกดีขึ้น

           พยายามกินอาหารอย่างสม่ำเสมอ ครบทุกมื้อ และดื่มน้ำบ่อยๆ ระหว่างอาหารแต่ละมื้อ

           การนั่งสมาธิให้จิตใจสงบหรือหามุมเงียบๆ ที่ร่มรื่นนั่งผ่อนคลายความรู้สึกสิ่งต่าง ๆ ที่คุณแม่กังวล เพื่อทำใจให้สบาย

           การคิดบวก มองโลกในแง่ดีไว้ก่อน เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยส่งผลดีในชีวิตให้กับคุณแม่และลูก

แม่ท้องกินยาแก้ปวดหัวได้หรือไม่

           ยาเกือบทุกชนิดเมื่อคุณแม่กินเข้าไป ร่างกายจะดูดซึมเข้ากระแสเลือด ส่วนหนึ่งจะผ่านรกไปสู่ลูกในท้อง ทำให้ได้รับยานั้นไปด้วย ดังนั้น ยาจะก่อให้เกิดอันตรายต่อลูกในท้องหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่กิน ว่ามีอันตรายผลข้างเคียงมากน้อยแค่ไหน และลูกได้รับในปริมาณเท่าใด

           ฉะนั้น ทางออกดี ๆ ที่ควรทำคือ ทุกครั้งที่คุณแม่มีอาการไม่พึงประสงค์ ควรขอคำแนะนำจากคุณหมอเกี่ยวกับการกินหรือใช้ยาทุกครั้ง และเพื่อป้องกันไม่ให้อาการปวดหัวมาเยือน คุณแม่จึงควรดูแลสุขภาพร่างกาย หาทางผ่อนคลายจิตใจ ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่ได้นำเสนอไปก็ได้ค่ะ

วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

แนะแม่ท้องดูแลตัวเอง หากความเสี่ยงสูง


ทุกวันนี้เราได้ก้าวสู่สูติศาสตร์ยุคใหม่ ดั้งนั้นความมุ่งหมายของการดูแลการตั้งครรภ์และการคลอด มิได้มุ่งไปเพียงแค่ให้คุณแม่ตั้งครรภ์คลอดบุตรออกมาได้เท่านั้น แต่ยังมุ่งไปที่ทำอย่างไรคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีสุขภาพที่แข็งแรง ได้รับความปลอดภัยจากการตั้งครรภ์และการคลอด ในขณะเดียวกัน ทารกแรกเกิดก็ต้องมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงด้วยเช่นกันคุณแม่ท้องอยู่ในภาวะเสี่ยงหรือไม่

             การที่จะบอกว่าคุณภาพของการดูแลสตรีตั้งครรภ์ดีหรือไม่นั้น สามารถที่จะดูได้จากอัตราการเสียชีวิตของสตรีตั้งครรภ์ อัตราการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ รวมทั้งตายตอนคลอด ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้แม่ตั้งครรภ์เสียชีวิตนั้น ได้แก่ การตกเลือดหลังคลอด การอักเสบติดเชื้อหลังคลอด ครรภ์เป็นพิษ ภาวะคลอดติดขัด ภาวะแท้งติดเชื้อ ภาวะน้ำคร่ำรั่วเข้าไปในกระแสโลหิตเฉียบพลัน

             ดังนั้นการที่เราสามารถที่จะแยกแยะว่า การตั้งครรภ์แบบใดที่เรียกว่ามีความเสี่ยงสูง ก็จะทำให้เราสามารถที่จะดูแลการตั้งครรภ์นั้นใกล้ชิดเป็นพิเศษ เพื่อที่จะลดโอกาสที่ความผิดปกตินั้น ๆ จะส่งผลร้ายต่อสตรีตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ลงได้

20 ความเสี่ยงสูงระหว่างตั้งครรภ์

             ภาวะความเสี่ยงสูงระหว่างตั้งครรภ์นั้น คงจะบอกได้ยากว่าจะมีจำนวนสักกี่เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากว่าในสังคมหนึ่งนั้น สัดส่วนของการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงจะไม่แน่นอน เพียงแต่มีแนวโน้มว่า การตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงนั้น มีโอกาสเพิ่มขึ้นเนื่องจากว่าสตรีตั้งครรภ์มีแนวโน้มอายุสูงขึ้น และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นก็เพิ่มขึ้น และต่อไปนี้คือภาวะที่ถือว่าเป็นความเสี่ยงสูงระหว่งตั้งครรภ์

             1. ประวัติเคยคลอดลูก แล้วลูกเสียชีวิตระหว่างคลอดหรือหลังคลอดมาก่อน

             2. ประวัติเคยแท้งบุตรมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง

             3. ประวัติเคยคลอดบุตรน้ำหนักน้อยกว่า 2500 กรัม

             4. ประวัติเคยคลอดบุตรน้ำหนักมากกว่า 4000 กรัม

             5. ประวัติครรภ์เป็นพิษในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน

             6. ประวัติเคยได้รับการผ่าตัดที่ตัวมดลูก หรืออวัยวะสืบพันธุ์

             7. การตั้งครรภ์เป็นการตั้งครรภ์แฝด

             8. การตั้งครรภ์ที่ทารกอยู่ในท่าที่ผิดปกติ เช่น ท่าก้น หรือท่าขวาง

             9. อายุสตรีตั้งครรภ์น้อยกว่า 16 ปี

             10. อายุสตรีตั้งครรภ์มากกว่า 40 ปี

             11. มีเลือดออกทางช่องคลอดระหว่างตั้งครรภ์

             12. มีหมู่เลือด Rh เป็นลบ

             13. มีก้อนในอุ้งเชิงกรานระหว่างตั้งครรภ์

             14. ความดันโลหิตสูง โดยความดันตัวล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 90 มม.ปรอท

             15. เป็นเบาหวานชนิดต้องพึ่งพาอินซูลิน

             16. เป็นโรคไต

             17. เป็นโรคหัวใจ

             18. ติดยาเสพย์ติด หรือสุรา

             19. โรคทางอายุรกรรมต่าง ๆ เช่น โลหิตจาง ต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ ภาวะภูมิคุ้มกันไวเกิน (SLE) เป็นต้น

             20. เป็นโรคติดเชื้อ HIV (โรคเอดส์) หรือกามโรค

มีความเสี่ยงสูงต้องใกล้ชิดผู้เชี่ยวชาญ

             หากคุณแม่เองรู้ตัวว่าเป็นสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะใดภาวะหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งภาวะ ร่วมกับการตั้งครรภ์ จัดว่ามีการตั้งครรภ์เสี่ยงสูง ก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลจากสูติแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านปริกำเนิด หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Maternal Fetal medicine

             สูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้จะดูแลภาวะผิดปกติเหล่านั้น โดยพุ่งเป้าไปที่การบรรเทาผลกระทบจากภาวะผิดปกติของสตรีตั้งครรภ์ ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมสุขภาพของทารกในครรภ์ด้วยการให้การดูแล หรือรักษาทารกในครรภ์ โดยให้แน่ใจว่าทารกในครรภ์จะได้รับสารอาหาร และออกซิเจนอย่างเพียงพอ โดยอาจจะให้ยาแก่สตรีตั้งครรภ์ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร การพักผ่อน การปฏิบัติตน การนัดมาตรวจครรภ์บ่อยขึ้น การตรวจอัลตร้าซาวน์เพื่อประเมินสุขภาพทารกในครรภ์ การตรวจเลือดเพื่อประเมินสภาวะของโรคต่างๆ ในขณะนั้น เป็นต้น

             เมื่อมั่นใจว่าการเจริญเติบโตในครรภ์เป็นไปด้วยดี และทารกมีความพร้อมที่จะออกมาสู่โลกภายนอกแล้ว แพทย์ก็จะพิจารณาให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลง

การคลอดในภาวะเสี่ยง

             สำหรับการที่จะให้ทารกในครรภ์คลอดออกมาด้วยวิธีใด ก็ขึ้นกับข้อบ่งชี้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว การตั้งครรภ์ภาวะเสี่ยงสูง มักจะใช้วิธีการผ่าตัดคลอดบุตรออกทางหน้าท้อง เป็นวิธีการหลัก

             ข้อดีของวิธีการดังกล่าวก็คือว่า สามารถกำหนดวันเวลาที่เหมาะสม ระยะเวลาที่เริ่มการผ่าตัด จนกระทั่งทารกคลอดออกมาเป็นเพียงช่วงสั้นๆ ประมาณ 10 นาที เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเจ็บครรภ์คลอดซึ่งอาจยาวนานถึง 12 ชั่วโมง และในขณะที่ผ่าตัดคลอดนั้น ก็มีเจ้าหน้าที่อยู่ครบถ้วน อันได้แก่ สูติแพทย์ วิสัญญีแพทย์ กุมารแพทย์

             ท่านผู้อ่านก็คงจะเห็นได้แล้วว่า หากเราสามารถที่จะวินิจฉัยภาวะตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ และได้ให้การตั้งครรภ์นั้นอยู่ในความดูแลของสูติแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปริกำเนิดโดยตรง โอกาสที่จะได้เห็นคุณแม่ตั้งครรภ์ และทารกที่คลอดออกมามีสุขภาพที่แข็งแรง ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนครับ

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554

ตรียมหัวนมอย่างไรก่อนคลอด


ตรียมหัวนมอย่างไรก่อนคลอด 

           สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าจะดูแลหัวนม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับลูกน้อยหลังคลอดอย่างไร เรามีคำแนะนำ สำหรับการเตรียมดูแลหัวนมก่อนจะคลอดมาฝากค่ะ

           เพราะธรรมชาติได้เตรียมหัวนมพร้อม สำหรับการเปลี่ยนแปลงระหว่างตั้งครรภ์อยู่ แล้ว คือบริเวณเต้านมจะมีเลือดมาเลี้ยงเยอะ มีความนุ่มนวลที่เกิดจากต่อมไขมันบริเวณหัวนม ทำให้นุ่มขึ้นมีความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อรอบ ๆ หัวนม อันเนื่องมาจากการทำงานของฮอร์โมน เพราะฉะนั้นหัวนมของแม่ถูกธรรมชาติสร้างและเตรียมมาให้อยู่แล้ว เราจึงไม่ต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษมากมายค่ะ แต่สิ่งสำคัญที่คุณแม่ควรทำคือการสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองค่ะ

หัวนมผิดปกติหรือเปล่า

           หัวนมบอด มีคุณแม่ที่คิดว่าตัวเองหัวนมบอดหรือหัวนมสั้น ให้ลองใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลาง วางบนลานนมให้ช่องว่างระหว่างนิ้วอยู่ที่หัวนม ถ้าสามารถคีบหัวนมได้ นั่นแสดงว่าหัวนมปกติค่ะ แต่ถ้าหัวนมบอดวิธีแก้ไขคือ พยายามนวดก่อนคลอด หรือดึงให้หัวนมขึ้นมาก็จะพอช่วยได้ค่ะ

           หัวนมยาว สำหรับคุณแม่ที่รู้สึกว่าตัวเองหัวนมยาว ถ้าให้ลูกดูดหัวนมจะไม่ยาวเพิ่มขึ้นค่ะ การที่คุณแม่มีหัวนมยาว ลูกสามารถกินนมได้ตามปกติแต่ต้องอ้าปากให้กว้างค่ะ

ดูแลหัวนมอย่างไร

           การอาบน้ำดูแลร่างกายตามปกติก็เพียงพอแล้วค่ะ การใช้ครีมบำรุงทำได้ค่ะ เช่น พวกโลชั่น หรือน้ำมันมะกอก ควรเลือกชนิดที่ไม่กระตุ้นให้เกิดการแพ้ ไม่เหนียวเหนอะหนะ มีการดูดซึมดี เพราะเมื่อผิวชุ่มชื่น ก็จะช่วยลดอาการแตกลายได้ แต่ถ้าคุณแม่เลือกครีมที่มีความเหนอะหนะมากเกินไป จะทำให้ผิวบริเวณนั้นอุดตันกับไขมัน ต่อมไขมันจะไม่สามารถขับน้ำมันออกมาได้ ทำให้เกิดตุ่มสิวขึ้นมาได้ค่ะ

           สบู่ที่ใช้ควรมีความเป็นกรดด่างน้อย ๆ เพราะผิวคุณแม่ช่วงนี้มีการขับไขมันออกมาเยอะ คุณแม่จะรู้สึกไม่ค่อยสบายตัว และไม่สบายใจด้วยว่าตัวเองสะอาดหรือยัง เพราะฮอร์โมนในร่างกายช่วงท้องทำให้สีผิวเปลี่ยนเป็นสีที่คล้ำขึ้น การใช้สบู่หรือมีการทำความสะอาดบริเวณเต้านมมากจนเกินไปไม่ดีนะคะ เพราะจะทำให้ผิวแห้ง ทำให้แบคทีเรียที่ช่วยปกป้องร่างกายของเราถูกกำจัดออกไปด้วย ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง การปกป้องผิวบริเวณนั้นก็ลดลงด้วย อาจส่งผลให้หัวนมแตก

           ปกติหัวนมแตกจะพบในช่วงหลังคลอดจากการดูดไม่ถูกวิธี หรือการดูดแรงเกินไปของลูกประมาณ 99.99% ส่วนอีก.01% เกิดได้ก่อนคลอด จากการที่คุณแม่ดูแลพิถีพิถันกับบริเวณหัวนมมากจนเกินไป

           สุดท้ายอย่าลืมดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และหมั่นสร้างความมั่นใจให้ตัวเองบ่อย ๆ ไม่ว่าหัวนมเราจะเป็นแบบไหน เราก็จะสามารถให้นมลูกและเลี้ยงเขาจนโตได้