วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การเตรียมพร้อมก่อนคลอด

การจัดกระเป๋าเตรียมตัวไปคลอดที่โรงพยาบาล ควรจัดล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือนเพื่อป้องกัน การฉุกละหุก หากมีการคลอดฉุกเฉินเกิดขึ้น นอกจากนั้นควรตรวจสอบดูด้วยว่า ของใช้จำเป็น อื่นๆ สำหรับลูกน้อยได้ตระเตรียมไว้พร้อมแล้วหรือยัง คุณแม่อาจสอบถามจากโรงพยาบาลที่จะไปคลอดว่า ควรนำสิ่งใดมาโรงพยาบาลบ้าง บางโรงพยาบาลจะมี รายการสิ่งของที่ควรนำมาในจำนวนที่เหมาะสมไว้ให้ บางโรงพยาบาลก็เตรียมเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับ คุณแม่และลูกน้อยไว้ให้แล้ว




สิ่งที่ควรเตรียมไปด้วย
ก่อนคลอด - สำหรับคุณแม่

  1. กระเป๋าเครื่องสำอางใบเล็กสำหรับเครื่องใช้ในห้องน้ำ เช่น แปรงสีฟัน, ยาสีฟัน, สบู่ หรือเจลอาบน้ำ, แชมพูสระผม, หวี หรือแปรงผม, ยาระงับกลิ่นกาย, ลิปมัน (เวลาเบ่งคลอดอาจปากแห้ง), น้ำหอมโอเดอ โคโลญจน์ (ถ้าชอบ), แป้งฝุ่น (ถ้าชอบ), ที่หนีบผม หรือที่รัดผม (เผื่อเวลาคลอดแล้วร้อน รำคาญ ผมเผ้ารุงรัง)
  2. หนังสือ, นิตยสาร สำหรับอ่านคลายเครียดก่อนเข้าห้องคลอด
  3. วิทยุเล็กๆ, วอล์คแมน, เครื่องเล่นซีดีอันเล็ก (สำหรับฟังเพลงคลายเครียด) หรือเกมส์กด (สำหรับคุณพ่อขณะรอคลอด)
  4. กล้องถ่ายรูป หรือกล้องวิดีโอเพื่อบันทึกภาพ (กรุณาขออนุญาตคุณหมอและทางรพ.ก่อนว่า อนุญาตให้บันทึกภาพได้)
  5. ลูกอม, เครื่องดื่ม ขณะรอคลอด
  6. ผ้าเช็ดหน้าและพัด (เผื่อรู้สึกร้อนขณะคลอด)
  7. ถุงเท้า (เผื่อรู้สึกหนาวเท้าขณะเจ็บท้องคลอดช่วงปลาย)
  8. กระติกน้ำร้อน (บางโรงพยาบาลมีให้)
  9. เหรียญบาท หรือบัตรโทรศัพท์เพื่อโทรแจ้งข่าวดี (ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือและ
    เพจเจอร์เมื่ออยู่ในโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการรบกวนจากคลื่นโทรศัพท์ที่มีต่อ
    เครื่อง มืออุปกรณ์ช่วยชีวิตทางการแพทย์ในรพ.)
  10. เบอร์โทรศัพท์ของญาติพี่น้อง เพื่อนๆ เพื่อแจ้งข่าวดี
  11. ผ้าเช็ดตัวสีเข้ม 1 ผืนและผ้าขนหนูไว้เช็ดหน้า 2 ผืน
  12. กระจกส่องหน้า (ถ้าต้องการ - ใช้เพื่อดูศีรษะลูกขณะ กำลังโผล่ศีรษะออกมาขณะเบ่งคลอดได้อีกด้วย - จะช่วยให้มีกำลังใจเบ่งได้ดีขึ้น)
  13. กระดาษทิชชู 1 กล่อง (บางรพ. มีให้) หรือกระดาษ เย็นเช็ดหน้า เพื่อใช้ซับเหงื่อขณะเจ็บท้องและเบ่งคลอด



สิ่งที่ควรเตรียมเพิ่มเติม - หลังคลอด

สำหรับคุณแม่

  1. ที่เป่าผม (ใช้เป่าผม หากต้องการให้ผมเผ้า ดูเรียบร้อยสวยงาม รอรับคนมาเยี่ยม และใช้อบแผลได้ด้วย)
  2. ลิปสติคสีธรรมชาติ (สำหรับคุณแม่ที่รัก สวยรักงาม - เพื่อความสบายใจ)
  3. ถุงพลาสติคใบใหญ่ใส่เสื้อผ้าใช้แล้วไปซัก
  4. รองเท้าแตะใส่ในบ้านแบบส้นเตี้ย
  5. ยกทรงสำหรับใส่ให้นมลูก (มีที่เปิดด้านหน้า) 3 ตัว
  6. กางเกงในตัวใหญ่ๆ สีเข้ม 6 ตัว
  7. ผ้าอนามัยแบบมีห่วง 2 ห่อ หรือแบบ ซึมซับมากเป็นพิเศษ (บางรพ. เตรียมให้ แต่กลับไปบ้านคุณก็ต้องใช้อยู่ดี)
  8. แผ่นซับน้ำนม สำหรับใส่ในยกทรงเพื่อ ซับน้ำนมซึม (มีขายทั้งชนิดใช้แล้วทิ้ง หรือ ชนิดซักใหม่ได้)
  9. ครีมทาน้ำนมเพื่อลดอาการเจ็บหัวนม (ไม่ใช้ก็ได้)
  10. เสื้อผ้าสำหรับคุณแม่ใส่วันออกจากรพ. เพื่อกลับบ้าน ควรเป็นชุดผ่าหน้า (เพื่อให้นม ลูกได้สะดวก) ควรเลือกตัวใหญ่ๆ หลวมๆ เพราะรูปร่างยังไม่คืนรูปในช่วงนี้
  11. ควรจะเตรียมทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนไปด้วย เพราะสมัยนี้โรงพยาบาลมีบริการ ทำสูติบัตรให้ค่ะ (แนะนำโดย คุณMacy)


สำหรับลูกน้อย

  1. ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ชนิดแรกเกิด 1 ห่อ (บางรพ.เตรียมไว้ให้) ใช้ขณะอยู่รพ.
  2. สำลี (สำหรับเช็ดทำความสะอาดลูก) ส่วนมากใช้ของรพ.
  3. ขันใบเล็ก สำหรับใส่น้ำต้มสุกเพื่อ ใช้เช็ดทำความสะอาดลูก
  4. โลชั่น/แป้งฝุ่น - ไม่จำเป็นต้องใช้กับทารก แรกเกิดเพราะผิวยังอ่อนมาก
  5. เสื้อผ้าเด็กอ่อน 3 ชุด
  6. ผ้าห่มใช้ห่อตัวลูก
  7. ถุงมือ ถุงเท้า ดูว่าไม่มีเส้นด้ายรุงรังอยู่ด้านใน
  8. หมวกเด็กอ่อน (ใช้ใส่วันกลับบ้าน)
  9. เสื้อชุดหมีเต็มตัวใช้ใส่กลับบ้าน 1 ชุด

เทคนิคเตรียมตัวก่อนคลอด

ก่อนคลอด เรื่องที่คุณแม่ท้องแรกมักจะกังวลใจ หนึ่งในหลายๆ เรื่องคือเรื่องการคลอดนั่นเอง บ้างได้ยินมาว่าตอนคลอดจะเจ็บมาก คลอดลำบาก ต้องมีท่าทางในการคลอด ต่างๆ นานา ซึ่งการจะคลอดลูกง่ายหรือยากนั้น จริงๆ แล้วมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องที่คุณแม่ท้องแรกควรทราบอย่างยิ่งค่ะ


ปัจจัยแรก
ขึ้นอยู่กับอุ้งเชิงกรานของคุณแม่ว่ามีขนาดได้มาตรฐานหรือไม่ หากเล็กไปการคลอดก็จะยากขึ้น อย่างไรก็ดี ก่อนคลอดแพทย์ก็จะวัดขนาดของกระดูกอุ้งเชิงกรานในช่วงอายุครรภ์ของแม่แล้ว ซึ่งพอจะบอกได้ว่าขนาดของอุ้งเชิงกรานใช้ได้หรือไม่ หากมีปัญหา แพทย์ที่ทำการคลอดจะได้หาหนทางแก้ไขต่อไป




ปัจจัยที่สอง
ขึ้นอยู่กับขนาดของทารก หากทารกมีขนาดใหญ่มากกว่า 3,500 กรัม การคลอดก็จะยากขึ้นหรืออาจคลอดตามธรรมชาติไม่ได้ เพราะจะมีความเสี่ยงมาก แพทย์อาจจะพิจารณาวิธีผ่าคลอดให้แม่เป็นทางเลือก




อยากคลอดง่ายทำไงดี
- ควรพยายามดูแลตัวเองให้รู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียด เช่น อาบน้ำอุ่น พักผ่อนมากขึ้น หรืออาจใช้กระเป๋าน้ำร้อนวางประคบหลังเพื่อช่วยคลายปวด แต่ไม่ควรกินยาแก้ปวด


- ไม่ควรอั้นปัสสาวะนานๆ การที่กระเพาะปัสสาวะว่าง จะมีผลช่วยให้การคลอดเป็นไปได้ด้วยดี เนื่องจากไม่เกิดอุปสรรค์กีดขวางการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก


- หากรู้สึกหิว ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ หรืออาหารว่างเบา ๆ ไม่ควรทานอาหารหนักเต็มมื้อ เนื่องจากอาหารเหล่านี้จะใช้เวลาในการย่อยนาน ยิ่งหากมีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้นระหว่างการคลอด จะเป็นอุปสรรคในการให้ยาระงับความรู้สึก เช่น ไม่สามารถให้ยาสลบได้


- ควรใช้เวลาที่พักระหว่างการเจ็บครรภ์อย่างคุ้มค่า โดยการนอนให้นิ่งและสงบอารมณ์ เพื่อเก็บพลังไว้ใช้ในการคลอด


- หากคุณแม่ยังสามารถลุกเดินได้ อาจจะลุกเดินรอบ ๆ เตียงบ้างก็ได้ หรือขยับตัวเปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลายจากการเกร็งตัว


- หากรู้สึกว่าต้องการระงับอาการปวด ควรบอกแพทย์หรือพยาบาลที่ดูแล


- พยายามควบคุมการหายใจเข้า ออก ตามวิธีที่พยาบาลในห้องคลอดแนะนำ ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่สบายขึ้น




บริหารร่างกายให้คลอดง่าย
การบริหารร่างกายก่อนการคลอดเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้คุณแม่คลอดง่าย ทั้งยังช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของคุณแม่แข็งแรง และช่วยคลายอาการปวดเมื่อยอีกด้วย เรามาดูกันดีกว่าว่าคุณแม่ต้องบริหารร่างกายอย่างไรบ้าง


1. บริหารกล้ามเนื้อขา สะโพกและข้อเท้า
เป็นท่าที่ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณขา สะโพก และเท้าของคุณแม่ดีขึ้น
โดยการนั่งพิงหมอน เหยียดขาตรง วางมือข้างลำตัว กระดกเท้าทั้งสองข้างขึ้นลงสลับกัน โดยให้ส้นเท้าวางอยู่กับที่ ขณะกระดกเท้าขึ้นหายใจเข้าลึก ๆ และหายใจออกเมื่อกดปลายเท้าลง ทำวันละ 8 - 10 ครั้งค่ะ


จากนั้นนั่งท่าเดียวกัน กด ปลายเท้าลง หมุนปลายเท้าและข้อทั้งสองข้างเป็นวงกลม ให้ส้นเท้าอยู่กับที่ ไม่งอเข่าค่ะ โดยหมุนปลายเท้าเข้าหาตัวเอง เมื่อครบรอบแล้วปลายเท้าจะอยู่ในลักษณะกระดกขึ้น แล้วให้หมุนปลายเท้าออกเมื่อครบรอบ ปลายเท้าจะอยู่ในลักษณะกดลง ทำสลับกัน 8 - 10 ครั้งค่ะ




2. บริหารกล้ามเนื้อต้นขา
เป็นท่าที่ช่วยให้กล้ามเนื้อต้นขายืด ขยาย มีความแข็งแรงมากขึ้น โดยการนั่งขัดสมาธิวางฝ่ามือตรงเข่า หายใจเข้าหลังตรง และหายใจออกทำ 8 - 10 ครั้ง จากนั้นนั่งขัดสมาธิประกบฝ่าเท้าทั้งสองข้าง ดึงส้นเท้าชิดตัว มือทั้งสองรองอยู่ใต้หัวเข่า เท้าชิดตัว ใช้มือทั้งสองที่สอดใต้เข่าทั้งสองข้างดันเข่าพร้อมกับสูดลมหายใจเข้า แล้วเปลี่ยนเป็นใช้ฝ่ามือกดเข่าลงช้า ๆ พร้อมกับหายใจออก ทำ 8 - 10 ครั้ง




3. บริหารกล้ามเนื้อสีข้าง
ช่วยลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อสีข้าง ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และหายใจได้สะดวกขึ้นค่ะ โดยการนั่งขัดสมาธิ ชูมือขวาขึ้นเหนือศีรษะให้มากที่สุด หลังยืดตรง เอียงตัวมาทางซ้ายให้มากที่สุดพร้อมหายใจเข้า กลับมานั่งตรงตามเดิม และหายใจออกสลับข้างเป็นยกมือข้างซ้าย ทำเช่นเดียวกัน 8 - 10 ครั้ง




4. บริหารกล้ามเนื้อช่องคลอดอุ้งเชิงกราน และฝีเย็บ
ช่วยให้ฝีเย็บยืดขยายสามารถควบคุมได้ง่าย โดยการขมิบ และคลายกล้ามเนื้อรอบ ๆ ช่องคลอด ทวารหนัก และช่องปัสสาวะ ขณะขมิบให้หายใจเข้า และขณะคลายให้หายใจออก




5. บริหารกล้ามเนื้อหลัง หน้าท้อง สะโพก และต้นขาด้านหลัง
ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และบรรเทาอาการปวดหลัง โดยการที่คุณแม่อยู่ในท่าคลาน แขนเท้าพื้นเหยียดตรง หายใจเข้าพร้อมกับโก่งหลังขึ้น ก้มศีรษะ แล้วหายใจออกพร้อมกับแอ่นหลังลงและยกศีรษะขึ้น




6. บริหารกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างหน้าท้องและอุ้งเชิงกราน
เป็นท่าที่มีประโยชน์สำหรับการคลอดเพราะช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนล่างยืดขยายและมีความยืดหยุ่น ทั้งยังลดอาการปวดหลังได้ดี โดยการนอนหงายกับพื้น ชันเข่าแยกขาห่างจากกันเล็กน้อย วางแขนทั้งสองข้างชิดลำตัวสูดหายใจเข้า กลั้นไว้พร้อมกับเกร็งกล้ามเนื้อสะโพก ต้นขา และหน้าท้อง แอ่นหลังขึ้น โดยไหล่และสะโพกแนบติดพื้น หายใจออกช้า ๆ พร้อมกับกดหลังให้ติดพื้นตามเดิม


คุณแม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่สบายตัว เคลื่อนไหวได้สะดวก และอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเท นอกจากนี้ การบริหารครั้งแรกควรทำเพียง 10 - 5 นาที วันละ 1 - 2 ท่า เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว หลังจากนั้นค่อยเพิ่มเป็นวันละ 30 - 40 นาที วันละ 4 - 5 ท่า แต่ถ้าหากคุณแม่รู้สึกเหนื่อยต้องรีบหยุดทันทีนะคะ


แสดงแบบโดยคุณเนาวรัตน์ พงษ์พันธ์เดชา

วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

อาการปวดหัว ของคุณแม่ตั้งครรภ์


หนึ่งในอาการที่อาจเกิดกับคุณแม่ท้องได้คืออาการปวดหัว ที่สำคัญคือ การกินยาอาจเป็นเพียงกรแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะอย่างที่รู้ดีว่า พฤติกรรมการกินยาของแม่ท้อง อาจมีผลกับลูกน้อย ดังนั้น การป้องกัน รับมือกับอาการไว้ก่อน เป็นวิธีที่ดีต่อคุณและลูกในท้องค่ะสาเหตุ ชวนปวดหัว

           สาเหตุมีได้หลายปัจจัย เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะคุณแม่ท้อง, อาการขาดน้ำกะทันหัน (dehydration), ความอ่อนเพลีย, ความหิว, พักผ่อนไม่เพียง (ยิ่งอายุครรภ์มาก ๆ อาการนอนไม่หลับจะเป็นบ่อยมาก) เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ, หรือสภาพแวดล้อมของอากาศ ภาวะความเครียด ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นสาเหตุทำให้คุณแม่เกิดอาการปวดหัว

ป้องกัน เรื่องปวดหัว

           นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8-10 ชั่วโมง โดยเฉพาะช่วงกลางคืน เพราะร่างกายผลิตฮอร์โมนที่ช่วยในการตั้งท้องออกมา และควรมีเวลาผ่อนคลายในช่วงระหว่างวัน

           กินอาหารเพิ่มขึ้น (อย่ากลัวอ้วน) เพราะลูกน้อยต้องการอาหารจากคุณ ควรกินให้ครบ 5 หมู่ ไม่ปล่อยให้ท้องว่าง เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง มีอาการปวดศีรษะได้ อาจเตรียมของว่างระหว่างมื้อเอาไว้ยามหิวก็ดีค่ะ

           ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 2 แก้ว

           ออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อช่วยผ่อนคลายและเสริมความแข็งแรงให้ร่างกาย

           ระวังการเปลี่ยนท่าทาง อิริยาบถต่าง ๆ ไม่ทำอย่างรวดเร็วเกินไป เช่น ก้มเก็บของหรือเงยหน้า เป็นเวลานาน, ลุกขึ้นยืนเร็วเกินไป เป็นต้น

           คุณแม่คอซาหรือกาแฟ ควรค่อย ๆ ลดปริมาณการดื่มในแต่ละวันลง เพราะการหยุดโดยทันทีอาจทำให้ปวดหัวจากการถอนคาเฟอีนออกจากร่างกาย

           ผ่อนคลายด้วยการสูดหายใจเข้าช้า ๆ ให้ท้องป่องขึ้นเล็กน้อย กลั้นไว้ประมาณ 1 วินาที แล้วค่อย ๆ หายใจออกให้ท้องยุบลง ทำให้กล้ามเนื้อของร่างกายคลายตัวลง

รับมือกับอาการอย่างไรดี

           อาจนวดต้นคอด้านข้าง เริ่มจากฐานของกะโหลกศีรษะหรือขอให้คุณสามีที่รักนวดเบา ๆ ที่ลำคอ และไหล่อาจทำให้รู้สึกดีขึ้น

           พยายามกินอาหารอย่างสม่ำเสมอ ครบทุกมื้อ และดื่มน้ำบ่อยๆ ระหว่างอาหารแต่ละมื้อ

           การนั่งสมาธิให้จิตใจสงบหรือหามุมเงียบๆ ที่ร่มรื่นนั่งผ่อนคลายความรู้สึกสิ่งต่าง ๆ ที่คุณแม่กังวล เพื่อทำใจให้สบาย

           การคิดบวก มองโลกในแง่ดีไว้ก่อน เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยส่งผลดีในชีวิตให้กับคุณแม่และลูก

แม่ท้องกินยาแก้ปวดหัวได้หรือไม่

           ยาเกือบทุกชนิดเมื่อคุณแม่กินเข้าไป ร่างกายจะดูดซึมเข้ากระแสเลือด ส่วนหนึ่งจะผ่านรกไปสู่ลูกในท้อง ทำให้ได้รับยานั้นไปด้วย ดังนั้น ยาจะก่อให้เกิดอันตรายต่อลูกในท้องหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่กิน ว่ามีอันตรายผลข้างเคียงมากน้อยแค่ไหน และลูกได้รับในปริมาณเท่าใด

           ฉะนั้น ทางออกดี ๆ ที่ควรทำคือ ทุกครั้งที่คุณแม่มีอาการไม่พึงประสงค์ ควรขอคำแนะนำจากคุณหมอเกี่ยวกับการกินหรือใช้ยาทุกครั้ง และเพื่อป้องกันไม่ให้อาการปวดหัวมาเยือน คุณแม่จึงควรดูแลสุขภาพร่างกาย หาทางผ่อนคลายจิตใจ ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่ได้นำเสนอไปก็ได้ค่ะ

วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

แนะแม่ท้องดูแลตัวเอง หากความเสี่ยงสูง


ทุกวันนี้เราได้ก้าวสู่สูติศาสตร์ยุคใหม่ ดั้งนั้นความมุ่งหมายของการดูแลการตั้งครรภ์และการคลอด มิได้มุ่งไปเพียงแค่ให้คุณแม่ตั้งครรภ์คลอดบุตรออกมาได้เท่านั้น แต่ยังมุ่งไปที่ทำอย่างไรคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีสุขภาพที่แข็งแรง ได้รับความปลอดภัยจากการตั้งครรภ์และการคลอด ในขณะเดียวกัน ทารกแรกเกิดก็ต้องมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงด้วยเช่นกันคุณแม่ท้องอยู่ในภาวะเสี่ยงหรือไม่

             การที่จะบอกว่าคุณภาพของการดูแลสตรีตั้งครรภ์ดีหรือไม่นั้น สามารถที่จะดูได้จากอัตราการเสียชีวิตของสตรีตั้งครรภ์ อัตราการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ รวมทั้งตายตอนคลอด ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้แม่ตั้งครรภ์เสียชีวิตนั้น ได้แก่ การตกเลือดหลังคลอด การอักเสบติดเชื้อหลังคลอด ครรภ์เป็นพิษ ภาวะคลอดติดขัด ภาวะแท้งติดเชื้อ ภาวะน้ำคร่ำรั่วเข้าไปในกระแสโลหิตเฉียบพลัน

             ดังนั้นการที่เราสามารถที่จะแยกแยะว่า การตั้งครรภ์แบบใดที่เรียกว่ามีความเสี่ยงสูง ก็จะทำให้เราสามารถที่จะดูแลการตั้งครรภ์นั้นใกล้ชิดเป็นพิเศษ เพื่อที่จะลดโอกาสที่ความผิดปกตินั้น ๆ จะส่งผลร้ายต่อสตรีตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ลงได้

20 ความเสี่ยงสูงระหว่างตั้งครรภ์

             ภาวะความเสี่ยงสูงระหว่างตั้งครรภ์นั้น คงจะบอกได้ยากว่าจะมีจำนวนสักกี่เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากว่าในสังคมหนึ่งนั้น สัดส่วนของการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงจะไม่แน่นอน เพียงแต่มีแนวโน้มว่า การตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงนั้น มีโอกาสเพิ่มขึ้นเนื่องจากว่าสตรีตั้งครรภ์มีแนวโน้มอายุสูงขึ้น และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นก็เพิ่มขึ้น และต่อไปนี้คือภาวะที่ถือว่าเป็นความเสี่ยงสูงระหว่งตั้งครรภ์

             1. ประวัติเคยคลอดลูก แล้วลูกเสียชีวิตระหว่างคลอดหรือหลังคลอดมาก่อน

             2. ประวัติเคยแท้งบุตรมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง

             3. ประวัติเคยคลอดบุตรน้ำหนักน้อยกว่า 2500 กรัม

             4. ประวัติเคยคลอดบุตรน้ำหนักมากกว่า 4000 กรัม

             5. ประวัติครรภ์เป็นพิษในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน

             6. ประวัติเคยได้รับการผ่าตัดที่ตัวมดลูก หรืออวัยวะสืบพันธุ์

             7. การตั้งครรภ์เป็นการตั้งครรภ์แฝด

             8. การตั้งครรภ์ที่ทารกอยู่ในท่าที่ผิดปกติ เช่น ท่าก้น หรือท่าขวาง

             9. อายุสตรีตั้งครรภ์น้อยกว่า 16 ปี

             10. อายุสตรีตั้งครรภ์มากกว่า 40 ปี

             11. มีเลือดออกทางช่องคลอดระหว่างตั้งครรภ์

             12. มีหมู่เลือด Rh เป็นลบ

             13. มีก้อนในอุ้งเชิงกรานระหว่างตั้งครรภ์

             14. ความดันโลหิตสูง โดยความดันตัวล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 90 มม.ปรอท

             15. เป็นเบาหวานชนิดต้องพึ่งพาอินซูลิน

             16. เป็นโรคไต

             17. เป็นโรคหัวใจ

             18. ติดยาเสพย์ติด หรือสุรา

             19. โรคทางอายุรกรรมต่าง ๆ เช่น โลหิตจาง ต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ ภาวะภูมิคุ้มกันไวเกิน (SLE) เป็นต้น

             20. เป็นโรคติดเชื้อ HIV (โรคเอดส์) หรือกามโรค

มีความเสี่ยงสูงต้องใกล้ชิดผู้เชี่ยวชาญ

             หากคุณแม่เองรู้ตัวว่าเป็นสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะใดภาวะหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งภาวะ ร่วมกับการตั้งครรภ์ จัดว่ามีการตั้งครรภ์เสี่ยงสูง ก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลจากสูติแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านปริกำเนิด หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Maternal Fetal medicine

             สูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้จะดูแลภาวะผิดปกติเหล่านั้น โดยพุ่งเป้าไปที่การบรรเทาผลกระทบจากภาวะผิดปกติของสตรีตั้งครรภ์ ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมสุขภาพของทารกในครรภ์ด้วยการให้การดูแล หรือรักษาทารกในครรภ์ โดยให้แน่ใจว่าทารกในครรภ์จะได้รับสารอาหาร และออกซิเจนอย่างเพียงพอ โดยอาจจะให้ยาแก่สตรีตั้งครรภ์ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร การพักผ่อน การปฏิบัติตน การนัดมาตรวจครรภ์บ่อยขึ้น การตรวจอัลตร้าซาวน์เพื่อประเมินสุขภาพทารกในครรภ์ การตรวจเลือดเพื่อประเมินสภาวะของโรคต่างๆ ในขณะนั้น เป็นต้น

             เมื่อมั่นใจว่าการเจริญเติบโตในครรภ์เป็นไปด้วยดี และทารกมีความพร้อมที่จะออกมาสู่โลกภายนอกแล้ว แพทย์ก็จะพิจารณาให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลง

การคลอดในภาวะเสี่ยง

             สำหรับการที่จะให้ทารกในครรภ์คลอดออกมาด้วยวิธีใด ก็ขึ้นกับข้อบ่งชี้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว การตั้งครรภ์ภาวะเสี่ยงสูง มักจะใช้วิธีการผ่าตัดคลอดบุตรออกทางหน้าท้อง เป็นวิธีการหลัก

             ข้อดีของวิธีการดังกล่าวก็คือว่า สามารถกำหนดวันเวลาที่เหมาะสม ระยะเวลาที่เริ่มการผ่าตัด จนกระทั่งทารกคลอดออกมาเป็นเพียงช่วงสั้นๆ ประมาณ 10 นาที เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเจ็บครรภ์คลอดซึ่งอาจยาวนานถึง 12 ชั่วโมง และในขณะที่ผ่าตัดคลอดนั้น ก็มีเจ้าหน้าที่อยู่ครบถ้วน อันได้แก่ สูติแพทย์ วิสัญญีแพทย์ กุมารแพทย์

             ท่านผู้อ่านก็คงจะเห็นได้แล้วว่า หากเราสามารถที่จะวินิจฉัยภาวะตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ และได้ให้การตั้งครรภ์นั้นอยู่ในความดูแลของสูติแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปริกำเนิดโดยตรง โอกาสที่จะได้เห็นคุณแม่ตั้งครรภ์ และทารกที่คลอดออกมามีสุขภาพที่แข็งแรง ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนครับ

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554

ตรียมหัวนมอย่างไรก่อนคลอด


ตรียมหัวนมอย่างไรก่อนคลอด 

           สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าจะดูแลหัวนม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับลูกน้อยหลังคลอดอย่างไร เรามีคำแนะนำ สำหรับการเตรียมดูแลหัวนมก่อนจะคลอดมาฝากค่ะ

           เพราะธรรมชาติได้เตรียมหัวนมพร้อม สำหรับการเปลี่ยนแปลงระหว่างตั้งครรภ์อยู่ แล้ว คือบริเวณเต้านมจะมีเลือดมาเลี้ยงเยอะ มีความนุ่มนวลที่เกิดจากต่อมไขมันบริเวณหัวนม ทำให้นุ่มขึ้นมีความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อรอบ ๆ หัวนม อันเนื่องมาจากการทำงานของฮอร์โมน เพราะฉะนั้นหัวนมของแม่ถูกธรรมชาติสร้างและเตรียมมาให้อยู่แล้ว เราจึงไม่ต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษมากมายค่ะ แต่สิ่งสำคัญที่คุณแม่ควรทำคือการสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองค่ะ

หัวนมผิดปกติหรือเปล่า

           หัวนมบอด มีคุณแม่ที่คิดว่าตัวเองหัวนมบอดหรือหัวนมสั้น ให้ลองใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลาง วางบนลานนมให้ช่องว่างระหว่างนิ้วอยู่ที่หัวนม ถ้าสามารถคีบหัวนมได้ นั่นแสดงว่าหัวนมปกติค่ะ แต่ถ้าหัวนมบอดวิธีแก้ไขคือ พยายามนวดก่อนคลอด หรือดึงให้หัวนมขึ้นมาก็จะพอช่วยได้ค่ะ

           หัวนมยาว สำหรับคุณแม่ที่รู้สึกว่าตัวเองหัวนมยาว ถ้าให้ลูกดูดหัวนมจะไม่ยาวเพิ่มขึ้นค่ะ การที่คุณแม่มีหัวนมยาว ลูกสามารถกินนมได้ตามปกติแต่ต้องอ้าปากให้กว้างค่ะ

ดูแลหัวนมอย่างไร

           การอาบน้ำดูแลร่างกายตามปกติก็เพียงพอแล้วค่ะ การใช้ครีมบำรุงทำได้ค่ะ เช่น พวกโลชั่น หรือน้ำมันมะกอก ควรเลือกชนิดที่ไม่กระตุ้นให้เกิดการแพ้ ไม่เหนียวเหนอะหนะ มีการดูดซึมดี เพราะเมื่อผิวชุ่มชื่น ก็จะช่วยลดอาการแตกลายได้ แต่ถ้าคุณแม่เลือกครีมที่มีความเหนอะหนะมากเกินไป จะทำให้ผิวบริเวณนั้นอุดตันกับไขมัน ต่อมไขมันจะไม่สามารถขับน้ำมันออกมาได้ ทำให้เกิดตุ่มสิวขึ้นมาได้ค่ะ

           สบู่ที่ใช้ควรมีความเป็นกรดด่างน้อย ๆ เพราะผิวคุณแม่ช่วงนี้มีการขับไขมันออกมาเยอะ คุณแม่จะรู้สึกไม่ค่อยสบายตัว และไม่สบายใจด้วยว่าตัวเองสะอาดหรือยัง เพราะฮอร์โมนในร่างกายช่วงท้องทำให้สีผิวเปลี่ยนเป็นสีที่คล้ำขึ้น การใช้สบู่หรือมีการทำความสะอาดบริเวณเต้านมมากจนเกินไปไม่ดีนะคะ เพราะจะทำให้ผิวแห้ง ทำให้แบคทีเรียที่ช่วยปกป้องร่างกายของเราถูกกำจัดออกไปด้วย ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง การปกป้องผิวบริเวณนั้นก็ลดลงด้วย อาจส่งผลให้หัวนมแตก

           ปกติหัวนมแตกจะพบในช่วงหลังคลอดจากการดูดไม่ถูกวิธี หรือการดูดแรงเกินไปของลูกประมาณ 99.99% ส่วนอีก.01% เกิดได้ก่อนคลอด จากการที่คุณแม่ดูแลพิถีพิถันกับบริเวณหัวนมมากจนเกินไป

           สุดท้ายอย่าลืมดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และหมั่นสร้างความมั่นใจให้ตัวเองบ่อย ๆ ไม่ว่าหัวนมเราจะเป็นแบบไหน เราก็จะสามารถให้นมลูกและเลี้ยงเขาจนโตได้

วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2554

แม่ท้องกับยา..ไทย จีน ฝรั่ง


                คุณแม่ท้องหลายคน อาจเป็นกังวลเมื่อถึงคราวป่วยไข้ต้องกินยา เพราะส่วนใหญ่จะถูกเตือนกันมาจากหลายทาง ทั้งคุณหมอที่ดูแล หรือจากสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียงของการกินยาที่เป็นอันตรายต่อลูกในท้องได้

               
ยิ่งยุคนี้การรักษาโรคมีทางเลือกมากขึ้น ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน จึงเกิดข้อสงสัยกันมากว่า ยาของทั้ง 3 ศาสตร์การแพทย์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นปลอดภัยกับแม่ท้องหรือไม่ รวมถึงมีสรรพคุณช่วยรักษา บำรุงร่างกายได้จริงดังคำกล่าวอ้างหรือเปล่า และถ้าใช้ร่วมกันจะเป็นอย่างไร
         
ฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในยาทั้ง 3 ศาสตร์ได้เลยค่ะ...

          ยาแผนปัจจุบัน

                ยาแผนปัจจุบันหรือเราอาจเรียกว่า ยาฝรั่ง ที่ทั้งโลกมีอยู่หลายแสนตำรับ แต่คุณแม่สบายใจได้ เพราะมีอยู่ไม่กี่สิบตำรับที่เป็นอันตรายต่อลูกในครรภ์ ที่ทำให้เกิดความพิการอย่างแน่ชัด ส่วนที่เหลือแค่ควรระวังในการกินเท่านั้น

                นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์ สูติแพทย์ โรงพยาบาลกลาง อธิบายว่ายาแบ่งเป็นหลายกลุ่มมีทั้งกลุ่มที่กินได้ไม่มีอันตราย กลุ่มที่ควรระวัง และกลุ่มที่มีอันตราย

               
"ยากลุ่มที่ควรระวัง เราก็ควรเลี่ยง เช่น กลุ่มยาปฏิชีวนะ ที่ส่วนใหญ่ยังไม่มีรายงานว่าทำให้เกิดความพิการ แต่ก็ควรระวังไว้ก่อน แต่ก็มียาปฏิชีวนะบางกลุ่มที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยแน่ ๆ เช่น กลุ่นเพนนิซิลิน เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่สบายก็ควรใช้ยาปฏิชีวนะพื้น ๆ ไม่ต้องไปบอกหมอว่าจะเอายาแรง ๆ เอาตัวใหม่ ๆ ล่าสุด เพราะเราต้องเน้นเรื่องความปลอดภัย

                ยาที่ปลอดภัยคือยาที่ใช้มานานแล้ว ส่วนยาที่ออกมาใหม่ ๆ ก็เลี่ยงไปก่อน เพราะวันนี้อาจยังไม่เจอรายงานความผิดปกติ แต่ไม่แน่อีก 5 ปี -10 ปี อาจจะเจอก็ได้"

                นอกจากนี้ คุณหมอวิชัยได้อธิบายการแบ่งกลุ่มยาแผนปัจจุบันว่า แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่ม A B C D และกลุ่ม X ซึ่งเป็นกลุ่มยาอันตราย

                ยากลุ่ม A รับรองว่าปลอดภัย 100 % ผ่านการวิจัยและทดลองมาแล้ว ยาในกลุ่มนี้ก็คือพวกวิตามิน ซึ่งกินแล้วมักไม่มีปัญหาอะไร

                ยากลุ่ม B คือกลุ่มยาที่ผ่านการทดลองในสัตว์ พบว่าปลอดภัยไม่มีปัญหาอะไร แต่ยังไม่มีการทดลองในมนุษย์ แต่นำมาใช้ในคนแล้วเป็นระยะเวลานานพอสมควร และมีรายงานว่ายังไม่พบความพิการจากยากลุ่มนี้เลย

                กลุ่มนี้คือ ยาปฏิชีวนะที่เราใช้กันทั่วไป ที่ทางการแพทย์ถือว่าปลอดภัย เช่น พวกแอมพิซิลิน เพนนิซิลิน และกลุ่มยาสามัญประจำบ้าน เช่น พาราเซตามอล ยาลดไข้ต่างๆ กลุ่มนี้ถือว่าเป็นยาที่ปลอดภัย

                ยากลุ่ม C คือกลุ่มยาที่ผลิตออกมาและทำการทดลองในสัตว์แล้ว พบว่าปลอดภัย แต่ในมนุษย์ยังไม่แน่ใจ คือค่อนข้างปลอดภัยแต่ไม่ 100% เต็ม เป็นกลุ่มที่ให้กินด้วยความระมัดระวัง ซึ่งจะเป็นยาปฏิชีวนะอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจมีคนไข้บางกลุ่มใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม B ไม่ได้ เช่น แพ้เพนนิซิลิน จึงต้องมาใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม C แทน โดยต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ภายใต้การดูแลของแพทย์

                ยากลุ่ม D คือกลุ่มยาที่มีรายงานว่าทำให้เกิดความพิการ หรือความผิดปกติของเด็กในครรภ์ได้ แต่ใช้แล้วมีประโยชน์กับแม่ตั้งครรภ์ ดังนั้น ถ้าจะใช้ยาในกลุ่มนี้แพทย์ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์กับโทษ เช่น ยารักษาวัณโรค หรือยาควินินที่ใช้รักษาโรคมาเลเรีย ซึ่งมีโทษกับเด็กในครรภ์อาจทำให้เกิดความพิการ แต่ถ้าแม่เป็นวัณโรค เป็นมาเลเรียแล้วไม่รักษา โรคอาจลุกลามจนแม่เสียชีวิต

                ยากลุ่มนี้จึงต้องกินด้วยความระมัดระวัง ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดและวิจารณญาณของแพทย์ว่าจำเป็นต้องใช้เพียงใด

                สุดท้ายยากลุ่ม X เป็นยาอันตราย กินเข้าไปมีผลกระทบกับลูก เป็นยาที่ทำให้เกิดความพิการต่อเด็กแน่นอน เช่น กลุ่มยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็งทั้งหลาย ยากลุ่ม X จะมีสัญลักษณ์กากบาทเป็นตัว X ไว้บนฉลาก และบอกไว้อย่างชัดเจนว่าห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์

                และส่วนใหญ่หากคุณแม่เป็นโรคร้ายแรงที่ต้องรักษาด้วยยากลุ่ม X คุณหมอมักจะมีการตรวจร่างกายว่าตั้งครรภ์หรือไม่ก่อนเสมอ ดังนั้น คุณแม่ไม่ต้องกังวลกับยากลุ่มนี้มาก เพราะยากลุ่ม X ซึ่งถือเป็นยาอันตราย ต้องใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์ที่รัดกุมอยู่แล้วค่ะ

        เตือนคุณแม่ไมเกรน เมื่อท้องต้องหยุดยา

                ยาบางอย่างดูเหมือนไม่น่ากลัว แต่ถ้ารู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจทำให้ลูกในครรภ์พิการได้ ที่พบบ่อย คือ ยาไมเกรน ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในสตรี คุณแม่ที่เป็นไมเกรนเมื่อตั้งครรภ์ ต้องหยุดยารักษาไมเกรนตัวที่ใช้อยู่เดิมก่อน เพราะยารักษาไมเกรนมีคุณสมบัติทำให้เส้นเลือดหดตัว เนื่องจากคนที่เป็นไมเกรนเส้นเลือดในสมองจะโป่งพอง ทำให้ตึงในสมองและปวดมาก

                ยาไมเกรนจะเป็นสารทำให้เส้นเลือดตีบตัว ถ้าคุณแม่กินเข้าไปจะทำให้เส้นเลือดที่รกตีบตัวไปด้วยจนเลือดไปเลี้ยงลูกไม่เพียงพอ ฉะนั้นถ้ากินยาไมเกรนในช่วงที่เด็กยังเป็นตัวอ่อนอยู่ก็อาจจะทำให้เด็กมี ความพิการหรือถึงกับเสียชีวิตในครรภ์ได้

                คุณแม่ที่ต้องรักษาโรคไมเกรน หากจำเป็นต้องใช้ยาต้องปรึกษากับคุณหมอ และแจ้งให้คุณหมอทราบให้ชัดเจนว่าอายุครรภ์เท่าใด เพื่อให้คุณหมอเลือกให้ยาที่ไม่เป็นอันตรายกับลูกในท้อง หรืออาจเลี่ยงไปใช้วิธีการบรรเทาปวดศรีษะไมเกรนด้วยวิธีอื่นทดแทนการกินยาไปก่อนค่ะ


      
คุณแม่ท้อง รักษาสิวต้องระวัง
         การรักษาสิว

                ฟังดูไม่น่ากลัวอะไร แต่รู้หรือไม่คะว่า ยารักษาสิวบางตัวอันตรายมากสำหรับเด็กในครรภ์ เช่น ยารักษาสิวยี่ห้อโรแอคคิวเทน ซึ่งนิยมใช้มากในการรักษาสิวอักเสบที่มีอาการมาก ๆ เรื่องนี้คุณหมอวิชัยอธิบายว่า

                "ยาที่คุมสิวได้มีคุณภาพมากที่สุดคือ โรแอคคิวเทน ซึ่งจะมีผลต่อการปรับระดับฮอร์โมนของผู้หญิง มีการพิสูจน์เรียบร้อยแล้วว่า ถ้ากินเข้าไประหว่างตั้งครรภ์จะทำให้มีความพิการของทารกแน่นอน ซึ่งหากกินเข้าไปโดยที่ไม่รู้ว่าท้อง เมื่อทราบภายหลังอาจพิจารณาให้ทำแท้งได้เลย เพราะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงมาก"

                ดังนั้น หากคุณแม่ตั้งครรภ์จะรักษาสิว ก็ต้องแจ้งให้แพทย์ผิวหนังที่ดูแลทราบว่า คุณกำลังตั้งครรภ์อยู่เพื่อให้คุณหมอจ่ายยาที่ไม่เป็นอันตราย หรือบางคนหากจะต้องรับประทานยาตัวที่เป็นอันตรายที่ว่า ก็ควรตรวจเช็คร่างกายให้มั่นใจว่าไม่ได้กำลังตั้งครรภ์อยู่

                คุณหมอวิชัย สรุปในตอนท้ายว่าสำหรับยาแผนปัจจุบัน หลักในการใช้ยาสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ก็คือ เลี่ยงการกินยาที่ไม่มั่นใจว่าจะปลอดภัยในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงที่ทารกกำลังสร้างอวัยวะ แต่หากคุณแม่มีโรคประจำตัว จำเป็นต้องได้รับยาบางชนิดเมื่อตั้งครรภ์ต้องรีบแจ้งให้คุณหมอที่ดูแลทราบทันที เพื่อพิจารณาถึงผลดีผลเสียในการรับยานั้น

          
ยาสมุนไพรไทย
                ยาไทยก็เช่นเดียวกับยาฝรั่ง มีทั้งกลุ่มที่ให้คุณประโยชน์ และกลุ่มที่ให้โทษ ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและรู้จริง คุณสันติสุข โสภณสิริ แพทย์แผนไทย จากมูลนิธิสุขภาพไทย ให้ข้อแนะนำในการใช้ยาสมุนไพรกับคุณแม่ตั้งครรภ์ว่า

                "ตามภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยโบราณ มีตำรายาให้แม่ท้องกินตั้งแต่เดือนแรกจนถึงเดือนที่ 9 ของการตั้งครรภ์ แต่ปัจจุบันยาเหล่านั้นบางตัวหายาก ซึ่งตอนนี้ยาที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ประยุกต์มาจากตำรายาไทยโบราณ เพื่อใช้สำหรับแม่ตั้งครรภ์จะประกอบด้วยยาแก้อาการต่าง ๆ เช่น อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียน แก้อาการท้องผูก แล้วก็ยาบำรุงครรภ์ บำรุงคุณแม่และเด็กในท้อง บางตัวเป็นยาที่เรารู้จักกันดีและใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่บางตัวต้องระวังในการใช้มาก ๆ"

               
ยาสมุนไพรไทยที่ใช้กับแม่ท้อง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1. แก้อาการแพ้ท้อง  2. ยาระบาย และ  3. ยาบำรุงครรภ์
         
ยาแก้อาการแพ้ท้อง
                ที่พอจะหาได้ง่าย ๆ  คือ น้ำขิง ช่วยแก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน โดยใช้วิธีเตรียมแบบโบราณ คือ นำขิงแก่ ล้างให้สะอาด ขนาดเท่าหัวแม่มือมาทุบ ต้มกับน้ำประมาณ 1 แก้ว ใช้ไฟอ่อน ๆ ต้มให้เดือดประมาณ 1-2 นาที การใช้ไฟอ่อน ๆ จะทำให้เกิดการเดือดโดยที่น้ำไม่แห้ง เวลากินอาจเติมน้ำตาลนิดหน่อย ค่อย ๆ จิบ จะช่วยลดอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ได้

                มะขาม ก็แก้อาหารแพ้ท้องได้ โดยใช้เนื้อมะขามล้วน ๆ ปั้นประมาณขนาดนิ้วหัวแม่มือ 2 ก้อนหรือ 1 ช้อนชา ละลายน้ำอุ่นแล้วจิบ หรือจะใช้มะขามเปียกจิ้มกับเกลือ กินพอรู้สึกดีขึ้นก็หยุด

                ความจริงของเปรี้ยวหลายอย่าง เช่น มะนาว มะดัน ส้มเปรี้ยว ฯลฯ ใช้แก้อาการแพ้ท้องได้ แต่อย่างรับประทานมากเดินไป จะทำให้เสาะท้อง และกระทบกระเทือนกับช่วงมีครรภ์อ่อน

                สมุนไพรแก้อาการแพ้ท้องอีกอย่างหนึ่งที่ตอนนี้หายากแล้วคือ ลูกยอ นำมาหั่นเป็นแว่นบาง ใช้ไฟอ่อน ๆ คั่วจนเหลืองกรอบหอม แล้วนำมาต้มหรือชงน้ำร้อน แก้อาการสำรอกอาเจียนได้


           สมุนไพรบำรุงครรภ์

                สมุนไพรที่โบราณนิยมใช้บำรุงครรภ์คือ เกสรดอกบัว นิยมใช้เกสรจากดอกบัวขาว หรือบัวหลวงที่เราใช้ไหว้พระนี่ล่ะค่ะ ดอกบัวถือเป็นยาบำรุงครรภ์ บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ แก้อาการใจสั่น ทำให้ธาตุในร่างกายสมดุล เชื่อกันว่าช่วยบำรุงครรภ์ ทำให้รกเกาะติดดี ไม่เคลื่อน ไม่คลอดก่อนกำหนด ป้องกันการแท้ง จะใช้สดหรือแห้งก็ได้ แต่ที่ต้องระวังคือ ต้องหาดอกบัวจากแหล่งที่ปลอดสารพิษนะคะ

                วิธีใช้ คือ นำเกสรดอกบัวมาประมาณหยิบมือหนึ่ง จะเป็นเกสรแบบสดหรือแห้งก็ได้ แล้วชงกับน้ำร้อนเดือด ๆ ตั้งไว้ให้อุ่น ดื่มวันละแก้ว

              
  ไม่เพียงเกสรดอกบัวเท่านั้น แม้แต่เมล็ดบัวก็ช่วยบำรุงครรภ์ได้ จะเป็นเมล็ดบัวแห้งที่เอามาทำเต้าทึง หรือเมล็ดบัวสด ๆ ก็ใช้ได้ โดยการใช้คือ นำเมล็ดบัว 1 ถ้วย (ประมาณ 30 กรัม) นึ่งหรือต้มแล้วกิน หรือจะเอาไปปั่นเพื่อให้กินง่ายขึ้นก็ได้ เมล็ดบัวอุดมด้วยสารอาหาร เช่น แคลเซียม โปรตีน เหล็ก วิตามินบี ช่วยบำรุงทั้งแม่และเด็กในท้อง
                อีกตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่เชื่อว่าช่วยบำรุงครรภ์คือ น้ำและเนื้อมะพร้าวอ่อนเผา ซึ่งคุณสันติสุขแนะนำว่าให้ผู้หญิงที่ตั้งท้อง 5 เดือนขึ้นไปกินเพื่อบำรุงเท่านั้น ช่วยให้เด็กคลอดง่าย ไม่มีไขมันเมือกติดตัวเด็กเยอะ แต่ที่ต้องระวังคือ ท้องอ่อนอายุครรภ์ต่ำกว่า 5 เดือนไม่ควรกิน และมะพร้าวต้องเป็นมะพร้าวอ่อนจริง ๆ กินทั้งเนื้อทั้งน้ำมะพร้าววันละลูกก็พอ ถ้าเป็นมะพร้าวเผาก็จะยิ่งดี เพราะการเผาหากมีสารใดที่เป็นพิษกับร่างกายแบบนิด ๆ หน่อย การเผาด้วยความร้อนจะทำลายฤทธิ์ของสารต่าง ๆ นั้นได้ แต่มะพร้าวแก่ ๆ ไม่ควรกินเพราะมีกะทิซึ่งเป็นไขมันมากเกินไป ไม่เหมาะกับคนท้อง


       
ยาระบาย
               
ผู้หญิงท้องแก่มักท้องผูก ถ้าต้องออกแรงเบ่งถ่ายมากจะเป็นอันตราย เพราะฉะนั้นจึงมียาระบายมาช่วย คือ กล้วยน้ำว้าสุกงอมเต็มที่ ซึ่งย่อยง่าย ช่วยบำรุงร่ายกายได้ดี มีสารแพคตินมาก ช่วยระบายอ่อน ๆ กินครั้งละ 2-3 ลูก โดยต้องเคี้ยวนาน ๆ ให้ละเอียดก่อนกลืนจะป้องกันอาการท้องอืดเพราะกล้วยไม่ย่อยได้
                นอกจากนี้ ก็มีมะละกอสุกและน้ำมะขาม ที่เป็นยาระบายได้ดี ส่วนสมอไทยก็เป็นยาระบายอ่อน ๆ ที่ปลอดภัย แต่ตอนนี้สมอไทยกลายเป็นของหายากในบ้านเราไปแล้ว

        
สมุนไพรไทยต้องห้ามของแม่ท้อง
                สมุนไพรไทยทั้งหลายที่มีคุณสมบัติทำให้มดลูกบีบตัว หรือที่เราอาจเคยได้ยินกันบ่อย ๆ ว่าเป็นยาบำรุงเลือด เช่น ว่านชักมดลูก กวาวเครือ ว่านนางคำ ดอกคำฝอย แห้วหมู ล้วนเป็นสมุนไพรที่ทำกระทบกระเทือนต่อครรภ์ ซึ่งต้องระวังไม่ไปหลงกินหรือกินมากเกินไปในช่วงมีครรภ์

                กลุ่มยาสตรีทุกยี่ห้อในท้องตลาด ก็ห้ามสตรีมีครรภ์กินโดยเด็ดขาด เพราะการที่บอกว่าเป็นยาบำรุงเลือด ยาขับประจำเดือน จะมีคุณสมบัติทำให้มดลูกบีบตัว หดตัวอย่างแรงมากในการที่จะขับเลือดออกมา โดยคุณสันติสุขให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า

                "ยาสตรีหรือยาขับประจำเดือนบำรุงเลือด พวกนี้จะมีสมุนไพรที่เรียกว่า เจตมูลเพลิงแดงผสมอยู่ ที่เขาใส่เจตมูลเพลิงแดง เพราะเป็นสมุนไพรที่เป็นตัวขับเลือด ยาสตรีบำรุงเลือดพวกนี้เป็นยาตำรับ ผสมพวกสมุนไพรร้อนเข้าไป จึงเป็นยาที่บีบมดลูกแรงมากเพื่อขับประจำเดือน อีกตัวที่เขาใส่คือ เอี้ยบ่อเช่า หรือภาษาไทยคือ กัญชาเทศ ตัวนี้เป็นตัวเสริมกับเจตมูลเพลิงแดง เป็นตัวขับเลือด นอกนั้นอาจจะใส่ว่านชักมดลูกเข้าไปด้วย จำง่าย ๆ ว่ากลุ่มยาบำรุงเลือดทั้งหลาย ยังไงก็เป็นยาขับประจำเดือนอยู่แล้ว แม่ท้องห้ามกิน"

                นอกจากนี้กลุ่มยาดองเหล้าทั้งหลายก็ห้ามนะคะ เพราะผสมแอลกอฮอล์ ไม่มีประโยชน์ต่อแม่และลูกอยู่แล้ว

                ส่วนยาสมุนไพรที่เราเห็นในท้องตลาดเป็นสมุนไพรแบบแห้ง ๆ ที่เป็นยาหม้อ ยาต้ม คุณสันติสุข กล่าวว่า ความจริงแพทย์แผนไทยก็เหมือนกับแพทย์แผนปัจจุบัน มีการควบคุมการประกอบโรคศิลป การที่แพทย์แผนไทยจะจ่ายยาเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะในสตรีมีครรภ์หรือหลังคลอดบุตร ต้องมีใบอนุญาตประกอบโรคศิลป เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัย คุณแม่ควรดูให้แน่ว่าแพทย์แผนไทยคนนั้น มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลป จากกระทรวงสาธารณสุขหรือเปล่า ดังนั้นทางที่ดีอย่าเสี่ยงรับยาไทย ยาหม้อ ยาต้มจากใครก็ไม่รู้ ที่สำคัญเราเองก็ไม่ทราบว่าตัวยานั้นคืออะไร


           ยาจีน

                ใครอยู่ในครอบครัวคนจีน ต้องเคยเห็นอาม่าหายาจีนมาคะยั้นคะยอให้คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อยู่ในครอบครัวกินแน่นอน คุณแม่สมัยใหม่บางคนไม่มั่นใจว่ายานี้คืออะไร กินแล้วจะมีอันตรายไหม ซึ่งหมอสูติฯ เกือบทุกคนก็ต้องเคยเจอกับคำถามคาใจแบบนี้จากคุณแม่

                นพ.สมชัย โกวิทเจริญกุล สูติแพทย์ ประจำโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน และนายกสมาคมแพทย์ฝังเข็มและสมุนไพร คุณหมอสมชัยเป็นหนึ่งในแพทย์แผนปัจจุบัน ที่หันไปสนใจศึกษาศาสตร์แพทย์แผนจีน ทั้งเรื่องการฝังเข็มและสมุนไพรจีนจนเชี่ยวชาญ ได้เล่าให้ฟังถึงยายอดนิยมที่คนจีนทั่วโลกต้องหามาให้แม่ท้องกินคือ ตัวยาที่ชื่อ จับซาไท้เป้า ที่มีสูตรเดียวกันทั่วโลก

               
"จับซาไท้เป้า เป็นกลุ่ม 13 ตัวยาที่ใช้รวมกัน เพื่อจะปกปักรักษาทั้งแม่ทั้งลูก ส่วนใหญ่จะทำให้สุขภาพของแม่ตั้งครรภ์ดีขึ้น เพราะแม่มักจะอ่อนแอในระยะท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ แต่เป็นช่วงที่ต้องเริ่มสะสมอาหาร สะสมพลังงานและภูมิต้านทานเผื่อไว้ให้ลูกและการคลอด ยานี้จะกินหลังจากอายุครรภ์ 6 เดือนไปแล้ว เชื่อกันว่าช่วยให้แม่ตั้งครรภ์สุขภาพแข็งแรงขึ้น มีกำลังในการเบ่งคลอด มีสตรีตั้งครรภ์กินยาจีนจำนวนมาก ก็ยังไม่พบรายงานความผิดปกติ การใช้ยาจีนขณะตั้งครรภ์ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีความรู้จริง"
                จับซาไท้เป้า ได้รับความนิยมมากมีตั้งแต่รูปแบบยาต้มจนถึงยาลูกกลอน โดยตามร้านขายยาจีนจะเจียดยาให้เป็นสมุนไพรแผ่น ๆ หรือเม็ด ๆ หรือเป็นผง เป็นรากไม้ ใบไม้ ผสมกัน 13 อย่างนำมาต้ม แล้วก็กรองดื่ม หรือในปัจจุบันมียาเม็ดจับซาไท้เป้าที่หลายบริษัทในเมืองจีนผลิต แล้วส่งเข้ามาขายในเมืองไทย สามารถหายาตัวนี้ได้ทั่วโลก ทุกประเทศที่มีร้านขายยาจีน และเป็นจับซาไท้เป้าสูตรเดียวกันทั่วโลก

                คุณหมอสมชัย อธิบายต่อว่ายาจีนทุกตัวเป็นสมุนไพร ที่ผ่านการทดลองในคนไข้จริง ๆ เป็นเวลาพัน ๆ ปี ผลหรือประสิทธิภาพย่อมเป็นที่ประจักษ์ ยาจีนตัวใดที่มีความไม่ปลอดภัย มีอันตราย ทำให้เด็กผิดปกติ ทำให้เกิดการแท้ง หรือยาที่ทำให้เด็กปลอดภัย มีสุขภาพดี สิ่งเหล่านี้ถูกบันทึกไว้ในตำราแพทย์แผนจีน มีการบันทึกเหมือนแพทย์แผนปัจจุบันว่า ยากลุ่มใดมีผลต่อแม่ ยากลุ่มไหนมีผลต่อลูก แบ่งเป็น 4 กลุ่มดังนี้

                กลุ่มที่ 1 คือ ยาที่มีผลต่อแม่โดยตรง

                กลุ่มที่ 2 คือยาที่มีผลต่อลูกในครรภ์

                กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่มีผลต่อการคลอด

                กลุ่มที่ 4 คือกลุ่มที่มีผลต่อทารกแรกเกิด

               
"ยาที่มีผลต่อเด็กในครรภ์แบ่งคร่าว ๆ ได้ 2 กลุ่มคือ กลุ่มหนึ่งทำให้เด็กพิการ อีกกลุ่มหนึ่งทำให้เกืดการแท้ง มียาจีนที่ทำให้เด็กแท้งประมาณ 50-60 ตัว ที่ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นยากลุ่มที่ต้องห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์
                อีกกลุ่มคือยาที่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง อาจจะไม่ทำให้แท้ง แต่อาจทำให้เด็กพิการได้ ตามตำราบันทึกไว้มีประมาณ 50-60 ตัวเช่นกัน ถ้าจะใช้ยากลุ่มนี้ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจจะทำให้เกิดความผิดปกติขณะตั้งครรภ์หรือคลอด แต่ถ้าใช้ในปริมาณที่เหมาะสมก็จะปลอดภัย โดยต้องใช้ภายใต้การแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ"

                นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มยาที่มีประโยชน์ เช่น ยาแก้อาการแพ้ท้อง มียาจีนที่ใช้ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งใช้ได้ในช่วงต้น ๆ ของการตั้งครรภ์ และยังมีกลุ่มยาที่ทำให้เด็กสุขภาพแข็งแรง และกลุ่มที่ช่วยให้แม่มีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งยาบำรุงร่างกายของแม่และลูกนี้มักให้แม่กินในช่วงหลังอายุครรภ์ 6 เดือนไปแล้ว

        ข้อควรระวังสั่งยาจีน

                ส่วนยาจีนที่ห้ามแม่กิน คุณหมอสมชัยบอกว่ามี 2 กลุ่มด้วยกัน คือ ยากลุ่มที่ทะลุทะลวงไปกระจายเลือดที่อุดตันหรือคั่งอยู่ ซึ่งจะไปทะลุทะลวงที่บริเวณเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือดในมดลูกด้วย ทำให้เกิดอันตรายต่อลูกในท้องได้

                และอีกกลุ่มที่มีคุณสมบัติตรงกันข้ามกับยากลุ่มแรก คือ ยาที่ทำให้เลือดไหลช้าลงหรือไม่ต้องการให้เลือดไหลพุ่งมาก ยากลุ่มนี้ก็จะไปรบกวนการไหลเวียนของเลือดในมดลูกหรือตัวเด็กให้ช้าลงจนไม่เพียงพอ ทำให้เด็กแท้งหรือไม่เจริญเติบโตเต็มที่

                "ยาจีนหรือการฝังเข็ม มีหลักเหมือนกันคือต้องระมัดระวังผลที่เกิดขึ้นทั้งในแง่ บวกและลบ คือทั้งการกระตุ้นและลดสลายจะมีผลกับมดลูกได้ ต้องระมัดระวังว่าจะไปมีผลต่อตัวเด็กและตัวมดลูก หลักการของยาจีนคล้ายยาแผนปัจจุบัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีการจัดระบบและระบุไว้ในตำรายาจีนเป็นพันปีมาแล้ว"

      
ข้อคิดเรื่องยาจีน
                คุณหมอสมชัยบอกว่า ต้องมั่นใจว่าผู้ที่จ่ายยาให้เรามีความรู้จริง ซึ่งนั่นหมายถึงความปลอดภัย เพราะหากมีความรู้เรื่องตัวยา สรรพคุณ น้ำหนักของยา และทราบระยะเวลาของการตั้งครรภ์แน่นอน แพทย์จีนท่านนั้นก็จะสามารถสั่งยาที่ปลอดภัยสำหรับแม่ตั้งครรภ์ และสามารถให้คำแนะนำในการใช้ที่ถูกต้องได้

                ส่วนเรื่องแหล่งในการซื้อยาจีนนั้น ในเมืองไทยรัฐบาลยังไม่มีระบบควบคุมยาจีนอย่างชัดเจน เนื่องจากยังขาดองค์ความรู้ แต่ปัจจุบันมีความพยายามของสถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระทรวงสาธารณสุข กำลังตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลและควบคุมมาตรฐานเรื่องการแพทย์แผนจีนโดยเฉพาะอยู่

                "เบื้องต้นการเลือกร้าน ขายยาจีนในประเทศไทย ควรเลือกร้านที่เชื่อถือได้ เป็นที่รู้จักว่า เขามีหมอจีนหรือเภสัชกรจีนที่ไว้ใจได้ เชื่อถือได้ ขายยาที่มีคุณภาพและปลอดภัย และมีความรู้จริง มีจริยธรรม ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงที่จะต้องจัดระเบียบต่อไปด้วย แต่ปัจจุบันมีแพทย์จีนหรือแพทย์ฝังเข็มถูกจัดเข้ามาสู่ระบบของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว เวลานี้มีหลายร้อยท่านที่ได้รับการรับรองผ่านการสอบกับกระทรวงสาธารณสุข เรียบร้อยแล้ว มีใบอนุญาตที่ถูกต้อง ถ้าจะหายาจีนแล้วไม่รู้แหล่งก็มองหาร้านที่แพทย์แผนจีนมีใบอนุญาตจากกระทรวง สาธารณสุข ก็จะการันตีความปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง"

         ยาจีนกับความจำเป็น

                "ในมุมมองของผม เราอาจไม่เรียกว่าเป็นแพทย์ทางเลือก แต่น่าจะนำมาใช้ในการผสมผสานวิธีการรักษาให้เกิดผลดีกับคนไข้ เพราะมีหลายอย่างที่ได้ประโยชน์กับคนไข้ เช่น คนไข้แพ้ท้องมาก รักษาด้วยยาแผนปัจจุบันแล้วไม่ได้ผล อาจเลือกใช้การรักษาด้วยการฝังเข็มและยาจีน ซึ่งอาจทำให้อาการดีขึ้นและปลอดภัย

                ส่วนยาจีนเพื่อการบำรุงครรภ์ ผมมองว่าไม่ใช่สิ่งจำเป็น เพราะสิ่งสำคัญเวลาตั้งครรภ์ แม่ต้องดูแลเรื่องการพักผ่อน เรื่องจิตใจ เรื่องอาหารการกิน ชีวิตความเป็นอยู่ให้เหมาะสมถูกต้อง แม่ก็จะมีสุขภาพที่ดีและสมบูรณ์ได้ ถามว่าจะใช้ยาจีนได้ไหม ถ้าจะใช้ก็ต้องมีความรู้จริง และใช้เป็นส่วนเสริมเข้ามาเท่านั้น"


               
ฟังข้อมูลจากแพทย์ทั้ง 3 ศาสตร์แล้ว สรุปได้ว่าหลักการในการใช้ยาของทั้ง 3 ทางเลือกคล้ายกันค่ะคือ ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ภายใต้การแนะนำของแพทย์หรือผู้รู้ในศาสตร์นั้น ๆ โดยเฉพาะในช่วง 3-5 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ไม่ควรจะกินยาที่ไม่รู้จักสุ่มสี่สุ่มห้า ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาก็ต้องปรึกษาแพทย์ หรือก่อนจะรับยาใด ๆ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ ว่ากำลังตั้งครรภ์และอายุครรภ์กี่เดือน
               
ยาก็เหมือนทุกสิ่งในโลกนี้มีทั้งด้านดีและด้านร้าย ใช้ถูกก็ให้คุณอนันต์ ใช้ไม่ถูกหรือไม่ระวังก็ให้โทษตามมาค่ะ

วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2554

สาเหตุปวดท้องระหว่างตั้งครรภ์

รู้จักกับอาการปวดท้องระหว่างตั้งครรภ์

อาการปวดท้องระหว่างตั้งครรภ์ไม่ใช่สิ่งผิดปกติ และไม่ใช่สิ่งที่น่าวิตกกังวลแต่อย่างใด แต่บางครั้ง อาการปวดท้อง หรือ อาการปวดเกร็งท้องอาจเป็นสัญญาณของอาการที่น่าเป็นห่วงบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยในขณะเดียวกัน
 
สาเหตุทั่วไปของอาการปวดท้อง

  • อาหารไม่ย่อยหรือรู้สึกแสบร้อนที่หน้าอก (heartburn) – บางครั้งอาการปวดท้องอาจเกิดร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • เส้นเอ็นรอบมดลูกของคุณยืดตัว – นี่เป็นสาเหตุของอาการปวดเกร็งท้องที่ไม่รุนแรง
  • ความรู้สึกตึงเครียด – อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดเกร็งท้องระหว่างหรือหลังจากถึงจุดสุดยอด ( orgasm)

สาเหตุของอาการปวดท้องที่น่าเป็นห่วงมากขึ้น

บางครั้ง อาการปวดท้องอาจบ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างที่น่าเป็นห่วง ดังนั้น หากคุณพบกับอาการใดๆ ดังต่อไปนี้ โปรดปรึกษาแพทย์โดยทันที
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ  – อาการปวดท้องที่เกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่นๆ
  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก – อาการปวดท้องที่เกิดขึ้นทั่วทั้งบริเวณท้อง
  • การแท้ง – อาการปวดเกร็งช่องท้องที่เกิดขึ้นร่วมกับมีเลือดออกทางช่องคลอด
  • การคลอดก่อนกำหนด – มีอาการปวดท้อง หรือ ปวดเกร็ง ที่เกิดร่วมกับท้องร่วง ปวดหลัง หรือ การหดรัดตัว ในช่วงสัปดาห์ที่ 20 ถึง 36


อาการปวดระหว่างตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นในช่วงหัวค่ำถือเป็นอาการปกติคุณแม่ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลอะไรมากนัก พยายามนึกเสมอว่าคุณเท่านั้นที่รู้จักร่างกายของตัวคุณเองดีกว่าใครทั้งหมด ดังนั้นถ้าอาการเจ็บหรือปวดทำให้คุณรู้สึกกังวลใจ ควรปรึกษาสูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ทันที  ถึงแม้ว่าอาการปวดที่เกิดขึ้นนั้นจะมีสาเหตุมาจากอาหารไม่ย่อย แต่การป้องกันไว้ก่อน ย่อมดีกว่ามานั่งเสียใจในภายหลัง

วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

เปิดดนตรี ให้ลูกในท้องขณะตั้งครรภ์


แม่ท้องจะมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ต้องการให้ดูแลทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ คุณแม่หลายคนต้องเผชิญกับความเครียดจากการอุ้มท้อง กังวลกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในชีวิต ภาวะซึมเศร้า ความอึดอัดจากท้องที่ใหญ่ขึ้นทุกวัน และกลัวการเจ็บปวดจากการคลอด ซึ่งอารมณ์ซึมเศร้าจะส่งผลกระทบถึงสุขภาพของแม่ และส่งต่อไปยังลูกน้อยในครรภ์ได้ เนื่องจากร่างกายจะหลั่งสารแห่งความเครียด หรือฮอร์โมนคอร์ติโซน ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง ร่างกายอ่อนแอ และไม่สบายได้ง่าย

          การนำดนตรีเข้ามาใช้กับคุณแม่ท้อง มีส่วนช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลาย และส่งให้ลูกในท้องเติบโตอย่างมีความสุขด้วย Modern Mom ไปคุยกับครูเชอรี่–นุชนารถ วัฒนศัพท์ ครูสอนร้องเพลงและดนตรีสำหรับเด็ก HUG School Creative Arts และอาจารย์พิเศษ ภาควิชาดนตรีสากล คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถึงประโยชน์ของดนตรีต่อแม่ท้อง และกิจกรรมดนตรีที่คุณแม่สามารถทำได้ง่ายๆ แม้ไม่ทักษะมาก่อน

ดนตรีช่วยคุณแม่ได้

          คุณแม่สามารถสร้างดนตรีได้เองจากการเล่นเครื่องดนตรีเอง การร้องเพลง (Active) และการฟัง(Receptive) ในการบรรเทาอาการต่าง ๆ ซึ่งดนตรีมีดีสำหรับแม่ท้องดังนี้ค่ะ

          1. ทำให้แม่ท้องมีความสุข อารมณ์สดชื่น ช่วยให้ลูกได้รับสารอาหารและออกซิเจนอย่างเต็มที่ เป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตในครรภ์

          2. ช่วยปรับอารมณ์ ดนตรีที่อ่อนโยนจะช่วยให้แม่รู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด ความกังวล และภาวะซึมเศร้าได้ ดนตรียังช่วยสร้างบรรยากาศให้แม่ได้หลีกหนีจากความวุ่นวาย และมีโลกส่วนตัวตามที่ต้องการได้

          3. ช่วยปรับร่างกาย การเลือกใช้ดนตรีที่เหมาะสมมาใช้ร่วมกับการเคลื่อนไหว จะช่วยให้แม่ได้ปรับสภาพร่างกาย ให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น และเตรียมความพร้อมและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสู่การคลอดที่มีคุณภาพ

          4. ช่วยให้การหายใจและการเต้นของหัวใจของแม่สม่ำเสมอ มีความดันโลหิตสูบฉีด และการบีบตัวของกล้ามเนื้อทำงานประสานกันดี ตลอดการหลั่งสารฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน สารแห่งความสุข ซึ่งมีผลต่อการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย และช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติโซนที่ทำให้เกิดความเครียดได้ การร้องเพลงก็เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้คุณแม่ได้หายใจลึกขึ้น และเป็นจังหวะ ทั้งยังได้ฝึกกล้ามเนื้อกระบังลมให้แข็งแรง มีระบบการย่อยอาหารที่ดี

          5. ช่วยทำให้แม่ได้กระตุ้นให้ลูกพัฒนาระบบการฟัง สมองทั้งซีกซ้ายและขวาของคุณแม่มีการทำงานประสานกันดี

          6. ช่วยสร้างความสัมพันธ์แม่-ลูก ดนตรีเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการสื่อสัมพันธ์ไปยังลูกในท้อง รวมไปถึงการสร้างความสัมพันธ์พ่อ-แม่-ลูกช่วยให้ลูกรู้สึกอบอุ่นใจ มีความผูกพันและมีความรู้สึกที่ดีต่อแม่

          7. ช่วยให้แม่ตัดความกังวล ลดความเจ็บปวด ลดความตึงเครียด เช่น ในการเจ็บครรภ์ในระหว่างรอคลอด คุณแม่สามารถฟังเพลงบรรเลง และหายใจผ่อนคลายกล้ามเนื้อในส่วนต่างของร่างกายไปตามจังหวะขณะมดลูกบีบตัว ซึ่งจะส่งผลช่วยให้ลูกได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่

กิจกรรมดนตรีเพื่อแม่ท้อง

          ส่วนกิจกรรมดนตรีที่คุณแม่สามารถทำได้นั้น มีหลากหลายวิธีไม่ใช่แค่การฟังเพลงอย่างเดียว แต่จะมีอะไรบ้างต้องติดตาม รับรองว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากเลยค่ะ

          icon 1. ฟัง คุณแม่ต้องเลือกฟังเสียงดนตรีที่ฟังแล้วนุ่มนวล รื่นหู สบายอารมณ์ มีเนื้อร้องในเชิงบวก หรือเพลงบรรเลง เพลงคลาสสิก ดนตรีไทยคลาสสิก แจ๊ซ สิ่งสำคัญคือฟังสิ่งที่คุณแม่มีความสุข เพียงแต่ควรต้องละเอียดในการเลือกเพลงฟังให้มากขึ้น

          icon 2. ร้อง ช่วงเวลาที่ตั้งครรภ์นั้น คุณแม่จะสังเกตได้ว่า ลูกจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเสียงเพลงที่เขาคุ้นเคย การที่ได้ร้องเพลงหรือแต่งเพลงพิเศษขึ้นในโอกาสต่างในชีวิตประจำวัน เพื่อร้องให้ลูกฟังบ่อยๆ โดยเลือกเพลงที่มีเนื้อหาที่มีความหมายที่ดี ขณะที่ร้องก็ลูบท้องและสัมผัสหน้าท้องไปด้วย เปรียบเสมือนเล่นกับลูกและพูดคุยไปด้วยค่ะ โดยให้สัมผัสตามจังหวะของเพลง ความดัง-เบาของดนตรีและน้ำหนักของเสียงร้อง หากเป็นเพลงที่มีเนื้อเพลง คุณแม่จะรู้สึกเพลิน สนุกขึ้นมากไปกว่าการฟังเพลงหรือการฮัมเพลงอย่างเดียว

          เมื่อลูกได้คลอดออกมา คุณแม่ร้องเพลงที่เคยร้องให้ฟังเป็นประจำตอนลูกอยู่ในท้อง ลูกก็เป็นแบบนั้นจริงๆค่ะ เป็นเด็กอารมณ์ดี ยิ้มเก่ง เลี้ยงง่าย ไม่งอแงค่ะ คุณแม่ไม่ต้องกังวลว่าเสียงไม่เพราะนะคะ ลูกชอบฟังเสียงคุณแม่อยู่แล้วค่ะ แถมลูกได้ฝึกฟัง เพิ่มพูนพัฒนาการทางภาษาไปด้วย

          icon 3. เล่น คือการเล่นกับลูกโดยใช้ดนตรี เช่น เพลง Dance Of The Hours (Playtime Music Box :The Baby Einstein Music Box Orchestra) สามารถเล่นกับลูกได้โดยการเคาะตามจังหวะทำนอง จำแนกเสียงเครื่องดนตรีไปที่บริเวณหน้าท้อง หรือใช้เพลง Raimond Lap : Lovely Baby Mozart และ Lovely Baby Magic (Disc 2) เป็นอัลบั้มที่น่ารัก มีเสียงเด็กๆ ฝึกให้ลูกในท้องฟังส่วนประกอบของดนตรีที่หลากหลาย รวมทั้งมีเพลงคลาสสิกที่เอามาทำให้น่าสนใจขึ้น โดยใส่เสียง Background เช่นเสียงน้ำไหล หรือเพลง Head Sholders Knees and Toes ก็สามารถนำมาเล่นกับลูกได้ เช่น ในไตรมาสท้าย คุณแม่ใช้นิ้วมือจักจี้ไปที่อวัยวะที่ลูกเป่งตัว โก่งตัวออกมา แล้วร้องเพลงทายว่าอวัยวะนี้ของลูกคือส่วนไหน หรือถ้าลูกเกร็งตัวจนทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัด ให้เลือกเพลงที่ผ่อนคลาย แล้วหายใจเข้าออกตามจังหวะเพลงพร้อมลูบท้องเบาๆ เช่นเพลง Fetus Dance ในอัลบั้ม Pregnancy Relaxation Moods หรืออาจจะเปิดเพลงซักท่อนหนึ่งแล้วหยุดแล้วให้คุณแม่ลองเดินตามจังหวะคำร้อง หรือท่วงทำนอง หนักเบา ช้าเร็ว ให้คุณแม่กับคุณลูกได้สื่อสารกันผ่านโลกแห่งดนตรีโดยไม่ต้องใช้คำพูดใดๆ

          icon 4. เคลื่อนไหวประกอบการฟังเพลง เช่น การเต้นรำ การเต้นรำอย่างอิสระ(Free Dancing) สามารถทำได้โดยคุณแม่ไม่ต้องมีพื้นฐานการเต้น เพียงแต่ใช้มือ 2 มือของแม่โอบรองรับท้องไว้แล้วเคลื่อนไหว เต้นรำไปกับจังหวะเสียงเพลงที่ได้ยิน คุณพ่ออาจเข้ามามีส่วนร่วมได้ โดยอยู่ทางด้านหลังคุณแม่ช่วยโอบอุ้มท้องคุณ แม่ไว้ และรองรับ support น้ำหนักที่หลังคุณแม่ พร้อมเคลื่อนไหวไปด้วยกัน หรือในตอนเช้า ตื่นขึ้นนอนจากเตียง คุณแม่ส่วนใหญ่จะต้องเผชิญกับอาการปวดหลัง การทำท่า Cat&Dog โดยวิธีโยคะเป็นการยืดกล้ามเนื้อที่ได้ผลมาก ให้เลือกเพลงที่เป็นเพลงบรรเลง จังหวะค่อนข้างช้า สม่ำเสมอ เช่นเพลง Temple Of The Dawn ของ Koh Mr.Saxman เครื่องดนตรีที่ใช้อาจเป็นชนิดเครื่องเป่า เช่น แซ็กโซโฟน หรือฟลุต ก็จะช่วยการฝึกการหายใจ ให้รู้สึกผ่อนคลายมาก ๆ เป็นฝึกเตรียมการหายใจ และการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อให้พร้อมในวินาทีการรอคลอดหรือปวดท้องคลอด

          หลายคนอาจได้ลองฝึกเต้นระบำหน้าท้อง Belly Dance เพลงที่ใช้มักจะเป็นในรูปแบบจังหวะกลองที่หลากหลาย ช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายกล้ามเนื้อหน้าอกส่วนบน ท้อง และสะโพกได้ และได้รูปร่างที่ดีในช่วงตั้งครรภ์ด้วย ท่าที่ช่วยได้มากคือการเต้นไปในทิศทางเหมือนเครื่องหมาย Infinity ทั้งในแนวนอนและแนวดิ่ง หรือการเต้นรำในแบบ Latin เช่น Salsa เป็นการเต้นที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศคิวบา ถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีมาก เพราะจะได้เคลื่อนไหวและใช้อวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ขาของคุณแม่จะแข็งแรง เพราะเป็นส่วนที่รับบทหนักที่สุด รองลงมาคือก้นและสะโพก กล้ามเนื้อตั้งแต่หน้าท้องลงไปจะได้ใช้ทั้งหมด บรรยากาศเพลงที่เลือกใช้ในการเต้นควรไม่เร็วจนเกินไป สนุกสนาน ครื้นเครง ช่วยให้คุณแม่กระฉับกระเฉงมากขึ้น เพราะมีเสียง Percussion ที่มีสีสันและหลากหลาย

          icon 5. สร้างสรรค์งานศิลป กิจกรรมที่อยากแนะนำอีกหนึ่ง คือ ให้คุณแม่เปิดเพลงต่างๆ แล้วลองสร้างสรรค์ผลงานศิลปะตามจินตนาการทางการได้ยิน ขณะเดียวกันพูดคุยกับลูกไปด้วย

ความสุขจากแม่สู่ลูก

          สิ่งที่คุณแม่ท้องรู้สึกและสัมผัสได้ ย่อมส่งผลต่อไปถึงลูก การที่คุณแม่ได้ฟัง ร้อง เล่นดนตรี ที่ทำให้คุณแม่รู้สึกแจ่มใส มีความสุขก็ย่อมทำให้การพัฒนาของลูกดีตั้งแต่อยู่ในครรภ์ค่ะ

          ร่างกายแม่ผ่อนคลาย ช่วยให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น มดลูกคลายตัว ทำให้ลูกอยู่อย่างสุขสบายในครรภ์ ได้รับสารอาหาร และออกซิเจนอย่างเต็มที่ สภาพจิตใจของแม่ ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพกายของแม่ ซึ่งสุดท้ายก็จะไปมีผลต่อลูกในท้อง ความผิดปกติบางอย่างของลูก มีความเกี่ยวข้อองกับสภาพจิตใจแม่ระหว่างตั้งครรภ์ อย่างที่มีนักวิจัยพบว่า ลูกที่เป็นออทิสติกสัมพันธ์กับแม่ที่มีภาวะความเครียดสูงระหว่างตั้งครรภ์ และดนตรียังมีส่วนช่วยให้ลูกที่คลอดออกมาแล้วเลี้ยงง่าย เพราะเขามีความคุ้นเคยกับดนตรี และรู้จักการตอบสนองต่อดนตรีตั้งแต่ในท้อง เราจึงสามารถนำดนตรีมาใช้ในการเลี้ยงลูกอย่างได้ผลดี

          จะเห็นได้ว่าการนำดนตรีเข้าใช้ในชีวิตคุณแม่นั้นมีประโยชน์ และสามารถทำได้ไม่ยาก ให้น่าไปลองทำกันนะคะ หากลองแล้วได้ผลอย่างไรกันบ้าง ก็อย่าลืมเขียนมาเล่าให้ Modern Mom ฟังบ้างนะคะ