วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การเตรียมพร้อมก่อนคลอด

การจัดกระเป๋าเตรียมตัวไปคลอดที่โรงพยาบาล ควรจัดล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือนเพื่อป้องกัน การฉุกละหุก หากมีการคลอดฉุกเฉินเกิดขึ้น นอกจากนั้นควรตรวจสอบดูด้วยว่า ของใช้จำเป็น อื่นๆ สำหรับลูกน้อยได้ตระเตรียมไว้พร้อมแล้วหรือยัง คุณแม่อาจสอบถามจากโรงพยาบาลที่จะไปคลอดว่า ควรนำสิ่งใดมาโรงพยาบาลบ้าง บางโรงพยาบาลจะมี รายการสิ่งของที่ควรนำมาในจำนวนที่เหมาะสมไว้ให้ บางโรงพยาบาลก็เตรียมเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับ คุณแม่และลูกน้อยไว้ให้แล้ว




สิ่งที่ควรเตรียมไปด้วย
ก่อนคลอด - สำหรับคุณแม่

  1. กระเป๋าเครื่องสำอางใบเล็กสำหรับเครื่องใช้ในห้องน้ำ เช่น แปรงสีฟัน, ยาสีฟัน, สบู่ หรือเจลอาบน้ำ, แชมพูสระผม, หวี หรือแปรงผม, ยาระงับกลิ่นกาย, ลิปมัน (เวลาเบ่งคลอดอาจปากแห้ง), น้ำหอมโอเดอ โคโลญจน์ (ถ้าชอบ), แป้งฝุ่น (ถ้าชอบ), ที่หนีบผม หรือที่รัดผม (เผื่อเวลาคลอดแล้วร้อน รำคาญ ผมเผ้ารุงรัง)
  2. หนังสือ, นิตยสาร สำหรับอ่านคลายเครียดก่อนเข้าห้องคลอด
  3. วิทยุเล็กๆ, วอล์คแมน, เครื่องเล่นซีดีอันเล็ก (สำหรับฟังเพลงคลายเครียด) หรือเกมส์กด (สำหรับคุณพ่อขณะรอคลอด)
  4. กล้องถ่ายรูป หรือกล้องวิดีโอเพื่อบันทึกภาพ (กรุณาขออนุญาตคุณหมอและทางรพ.ก่อนว่า อนุญาตให้บันทึกภาพได้)
  5. ลูกอม, เครื่องดื่ม ขณะรอคลอด
  6. ผ้าเช็ดหน้าและพัด (เผื่อรู้สึกร้อนขณะคลอด)
  7. ถุงเท้า (เผื่อรู้สึกหนาวเท้าขณะเจ็บท้องคลอดช่วงปลาย)
  8. กระติกน้ำร้อน (บางโรงพยาบาลมีให้)
  9. เหรียญบาท หรือบัตรโทรศัพท์เพื่อโทรแจ้งข่าวดี (ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือและ
    เพจเจอร์เมื่ออยู่ในโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการรบกวนจากคลื่นโทรศัพท์ที่มีต่อ
    เครื่อง มืออุปกรณ์ช่วยชีวิตทางการแพทย์ในรพ.)
  10. เบอร์โทรศัพท์ของญาติพี่น้อง เพื่อนๆ เพื่อแจ้งข่าวดี
  11. ผ้าเช็ดตัวสีเข้ม 1 ผืนและผ้าขนหนูไว้เช็ดหน้า 2 ผืน
  12. กระจกส่องหน้า (ถ้าต้องการ - ใช้เพื่อดูศีรษะลูกขณะ กำลังโผล่ศีรษะออกมาขณะเบ่งคลอดได้อีกด้วย - จะช่วยให้มีกำลังใจเบ่งได้ดีขึ้น)
  13. กระดาษทิชชู 1 กล่อง (บางรพ. มีให้) หรือกระดาษ เย็นเช็ดหน้า เพื่อใช้ซับเหงื่อขณะเจ็บท้องและเบ่งคลอด



สิ่งที่ควรเตรียมเพิ่มเติม - หลังคลอด

สำหรับคุณแม่

  1. ที่เป่าผม (ใช้เป่าผม หากต้องการให้ผมเผ้า ดูเรียบร้อยสวยงาม รอรับคนมาเยี่ยม และใช้อบแผลได้ด้วย)
  2. ลิปสติคสีธรรมชาติ (สำหรับคุณแม่ที่รัก สวยรักงาม - เพื่อความสบายใจ)
  3. ถุงพลาสติคใบใหญ่ใส่เสื้อผ้าใช้แล้วไปซัก
  4. รองเท้าแตะใส่ในบ้านแบบส้นเตี้ย
  5. ยกทรงสำหรับใส่ให้นมลูก (มีที่เปิดด้านหน้า) 3 ตัว
  6. กางเกงในตัวใหญ่ๆ สีเข้ม 6 ตัว
  7. ผ้าอนามัยแบบมีห่วง 2 ห่อ หรือแบบ ซึมซับมากเป็นพิเศษ (บางรพ. เตรียมให้ แต่กลับไปบ้านคุณก็ต้องใช้อยู่ดี)
  8. แผ่นซับน้ำนม สำหรับใส่ในยกทรงเพื่อ ซับน้ำนมซึม (มีขายทั้งชนิดใช้แล้วทิ้ง หรือ ชนิดซักใหม่ได้)
  9. ครีมทาน้ำนมเพื่อลดอาการเจ็บหัวนม (ไม่ใช้ก็ได้)
  10. เสื้อผ้าสำหรับคุณแม่ใส่วันออกจากรพ. เพื่อกลับบ้าน ควรเป็นชุดผ่าหน้า (เพื่อให้นม ลูกได้สะดวก) ควรเลือกตัวใหญ่ๆ หลวมๆ เพราะรูปร่างยังไม่คืนรูปในช่วงนี้
  11. ควรจะเตรียมทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนไปด้วย เพราะสมัยนี้โรงพยาบาลมีบริการ ทำสูติบัตรให้ค่ะ (แนะนำโดย คุณMacy)


สำหรับลูกน้อย

  1. ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ชนิดแรกเกิด 1 ห่อ (บางรพ.เตรียมไว้ให้) ใช้ขณะอยู่รพ.
  2. สำลี (สำหรับเช็ดทำความสะอาดลูก) ส่วนมากใช้ของรพ.
  3. ขันใบเล็ก สำหรับใส่น้ำต้มสุกเพื่อ ใช้เช็ดทำความสะอาดลูก
  4. โลชั่น/แป้งฝุ่น - ไม่จำเป็นต้องใช้กับทารก แรกเกิดเพราะผิวยังอ่อนมาก
  5. เสื้อผ้าเด็กอ่อน 3 ชุด
  6. ผ้าห่มใช้ห่อตัวลูก
  7. ถุงมือ ถุงเท้า ดูว่าไม่มีเส้นด้ายรุงรังอยู่ด้านใน
  8. หมวกเด็กอ่อน (ใช้ใส่วันกลับบ้าน)
  9. เสื้อชุดหมีเต็มตัวใช้ใส่กลับบ้าน 1 ชุด

เทคนิคเตรียมตัวก่อนคลอด

ก่อนคลอด เรื่องที่คุณแม่ท้องแรกมักจะกังวลใจ หนึ่งในหลายๆ เรื่องคือเรื่องการคลอดนั่นเอง บ้างได้ยินมาว่าตอนคลอดจะเจ็บมาก คลอดลำบาก ต้องมีท่าทางในการคลอด ต่างๆ นานา ซึ่งการจะคลอดลูกง่ายหรือยากนั้น จริงๆ แล้วมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องที่คุณแม่ท้องแรกควรทราบอย่างยิ่งค่ะ


ปัจจัยแรก
ขึ้นอยู่กับอุ้งเชิงกรานของคุณแม่ว่ามีขนาดได้มาตรฐานหรือไม่ หากเล็กไปการคลอดก็จะยากขึ้น อย่างไรก็ดี ก่อนคลอดแพทย์ก็จะวัดขนาดของกระดูกอุ้งเชิงกรานในช่วงอายุครรภ์ของแม่แล้ว ซึ่งพอจะบอกได้ว่าขนาดของอุ้งเชิงกรานใช้ได้หรือไม่ หากมีปัญหา แพทย์ที่ทำการคลอดจะได้หาหนทางแก้ไขต่อไป




ปัจจัยที่สอง
ขึ้นอยู่กับขนาดของทารก หากทารกมีขนาดใหญ่มากกว่า 3,500 กรัม การคลอดก็จะยากขึ้นหรืออาจคลอดตามธรรมชาติไม่ได้ เพราะจะมีความเสี่ยงมาก แพทย์อาจจะพิจารณาวิธีผ่าคลอดให้แม่เป็นทางเลือก




อยากคลอดง่ายทำไงดี
- ควรพยายามดูแลตัวเองให้รู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียด เช่น อาบน้ำอุ่น พักผ่อนมากขึ้น หรืออาจใช้กระเป๋าน้ำร้อนวางประคบหลังเพื่อช่วยคลายปวด แต่ไม่ควรกินยาแก้ปวด


- ไม่ควรอั้นปัสสาวะนานๆ การที่กระเพาะปัสสาวะว่าง จะมีผลช่วยให้การคลอดเป็นไปได้ด้วยดี เนื่องจากไม่เกิดอุปสรรค์กีดขวางการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก


- หากรู้สึกหิว ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ หรืออาหารว่างเบา ๆ ไม่ควรทานอาหารหนักเต็มมื้อ เนื่องจากอาหารเหล่านี้จะใช้เวลาในการย่อยนาน ยิ่งหากมีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้นระหว่างการคลอด จะเป็นอุปสรรคในการให้ยาระงับความรู้สึก เช่น ไม่สามารถให้ยาสลบได้


- ควรใช้เวลาที่พักระหว่างการเจ็บครรภ์อย่างคุ้มค่า โดยการนอนให้นิ่งและสงบอารมณ์ เพื่อเก็บพลังไว้ใช้ในการคลอด


- หากคุณแม่ยังสามารถลุกเดินได้ อาจจะลุกเดินรอบ ๆ เตียงบ้างก็ได้ หรือขยับตัวเปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลายจากการเกร็งตัว


- หากรู้สึกว่าต้องการระงับอาการปวด ควรบอกแพทย์หรือพยาบาลที่ดูแล


- พยายามควบคุมการหายใจเข้า ออก ตามวิธีที่พยาบาลในห้องคลอดแนะนำ ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่สบายขึ้น




บริหารร่างกายให้คลอดง่าย
การบริหารร่างกายก่อนการคลอดเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้คุณแม่คลอดง่าย ทั้งยังช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของคุณแม่แข็งแรง และช่วยคลายอาการปวดเมื่อยอีกด้วย เรามาดูกันดีกว่าว่าคุณแม่ต้องบริหารร่างกายอย่างไรบ้าง


1. บริหารกล้ามเนื้อขา สะโพกและข้อเท้า
เป็นท่าที่ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณขา สะโพก และเท้าของคุณแม่ดีขึ้น
โดยการนั่งพิงหมอน เหยียดขาตรง วางมือข้างลำตัว กระดกเท้าทั้งสองข้างขึ้นลงสลับกัน โดยให้ส้นเท้าวางอยู่กับที่ ขณะกระดกเท้าขึ้นหายใจเข้าลึก ๆ และหายใจออกเมื่อกดปลายเท้าลง ทำวันละ 8 - 10 ครั้งค่ะ


จากนั้นนั่งท่าเดียวกัน กด ปลายเท้าลง หมุนปลายเท้าและข้อทั้งสองข้างเป็นวงกลม ให้ส้นเท้าอยู่กับที่ ไม่งอเข่าค่ะ โดยหมุนปลายเท้าเข้าหาตัวเอง เมื่อครบรอบแล้วปลายเท้าจะอยู่ในลักษณะกระดกขึ้น แล้วให้หมุนปลายเท้าออกเมื่อครบรอบ ปลายเท้าจะอยู่ในลักษณะกดลง ทำสลับกัน 8 - 10 ครั้งค่ะ




2. บริหารกล้ามเนื้อต้นขา
เป็นท่าที่ช่วยให้กล้ามเนื้อต้นขายืด ขยาย มีความแข็งแรงมากขึ้น โดยการนั่งขัดสมาธิวางฝ่ามือตรงเข่า หายใจเข้าหลังตรง และหายใจออกทำ 8 - 10 ครั้ง จากนั้นนั่งขัดสมาธิประกบฝ่าเท้าทั้งสองข้าง ดึงส้นเท้าชิดตัว มือทั้งสองรองอยู่ใต้หัวเข่า เท้าชิดตัว ใช้มือทั้งสองที่สอดใต้เข่าทั้งสองข้างดันเข่าพร้อมกับสูดลมหายใจเข้า แล้วเปลี่ยนเป็นใช้ฝ่ามือกดเข่าลงช้า ๆ พร้อมกับหายใจออก ทำ 8 - 10 ครั้ง




3. บริหารกล้ามเนื้อสีข้าง
ช่วยลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อสีข้าง ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และหายใจได้สะดวกขึ้นค่ะ โดยการนั่งขัดสมาธิ ชูมือขวาขึ้นเหนือศีรษะให้มากที่สุด หลังยืดตรง เอียงตัวมาทางซ้ายให้มากที่สุดพร้อมหายใจเข้า กลับมานั่งตรงตามเดิม และหายใจออกสลับข้างเป็นยกมือข้างซ้าย ทำเช่นเดียวกัน 8 - 10 ครั้ง




4. บริหารกล้ามเนื้อช่องคลอดอุ้งเชิงกราน และฝีเย็บ
ช่วยให้ฝีเย็บยืดขยายสามารถควบคุมได้ง่าย โดยการขมิบ และคลายกล้ามเนื้อรอบ ๆ ช่องคลอด ทวารหนัก และช่องปัสสาวะ ขณะขมิบให้หายใจเข้า และขณะคลายให้หายใจออก




5. บริหารกล้ามเนื้อหลัง หน้าท้อง สะโพก และต้นขาด้านหลัง
ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และบรรเทาอาการปวดหลัง โดยการที่คุณแม่อยู่ในท่าคลาน แขนเท้าพื้นเหยียดตรง หายใจเข้าพร้อมกับโก่งหลังขึ้น ก้มศีรษะ แล้วหายใจออกพร้อมกับแอ่นหลังลงและยกศีรษะขึ้น




6. บริหารกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างหน้าท้องและอุ้งเชิงกราน
เป็นท่าที่มีประโยชน์สำหรับการคลอดเพราะช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนล่างยืดขยายและมีความยืดหยุ่น ทั้งยังลดอาการปวดหลังได้ดี โดยการนอนหงายกับพื้น ชันเข่าแยกขาห่างจากกันเล็กน้อย วางแขนทั้งสองข้างชิดลำตัวสูดหายใจเข้า กลั้นไว้พร้อมกับเกร็งกล้ามเนื้อสะโพก ต้นขา และหน้าท้อง แอ่นหลังขึ้น โดยไหล่และสะโพกแนบติดพื้น หายใจออกช้า ๆ พร้อมกับกดหลังให้ติดพื้นตามเดิม


คุณแม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่สบายตัว เคลื่อนไหวได้สะดวก และอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเท นอกจากนี้ การบริหารครั้งแรกควรทำเพียง 10 - 5 นาที วันละ 1 - 2 ท่า เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว หลังจากนั้นค่อยเพิ่มเป็นวันละ 30 - 40 นาที วันละ 4 - 5 ท่า แต่ถ้าหากคุณแม่รู้สึกเหนื่อยต้องรีบหยุดทันทีนะคะ


แสดงแบบโดยคุณเนาวรัตน์ พงษ์พันธ์เดชา